คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9571/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิการบอกเลิกสัญญาและวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อตามมาตรา 573 และให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 574 ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ตามมาตรา 560 มาใช้บังคับในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการเลิกสัญญาเช่าซื้อแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ใช้วิธีแสดงเจตนามีหนังสือทวงถามไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ก่อน หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดให้ถือเอาหนังสือนั้นเป็นการบอกเลิกสัญญาจึงบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 ได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายใน 3 วัน หากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ระยะเวลา 3 วันที่โจทก์กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่จำนวน 29,810 บาทนั้น นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 387 แล้ว เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้มาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ30 ต่อปี รวมไว้ในสัญญาเช่าซื้อและค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระซึ่งเป็นอัตราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองได้ ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ได้โดยวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ เป็นการห้ามเรียกดอกเบี้ยเฉพาะแต่การกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การเช่าซื้อได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทพีมูฟวิ่งอินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องปรับอากาศจากโจทก์ในราคา 49,880 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาแล้ว9,200 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,695 บาท มีกำหนด24 เดือน มีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา ยังคงค้างชำระค่าเช่าซื้ออีก 18 งวด เป็นเงินจำนวน 29,910 บาท โดยผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 7 ของวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นมาซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อหากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเพียงงวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อหรือให้ใช้ราคาทรัพย์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเครื่องปรับอากาศที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 29,910 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบเครื่องปรับอากาศยี่ห้อยูนิแอร์ จำนวน 1 เครื่องที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 29,910 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 ซึ่งนำมาใช้ในเรื่องเช่าซื้อด้วยระบุว่า หากจะบอกเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเสียก่อน โดยต้องกำหนดเวลาอย่าให้น้อยกว่า 15 วัน แต่โจทก์มีหนังสือทวงถามบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 3 วัน หากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า สิทธิการบอกเลิกสัญญาและวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วโดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 มาใช้บังคับในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ และตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขเลิกสัญญาเช่าซื้อแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ใช้วิธีแสดงเจตนามีหนังสือทวงถามไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ก่อน หากไม่ชำระภายในกำหนดให้ถือเอาหนังสือนั้นเป็นการบอกเลิกสัญญา แสดงว่าโจทก์สละสิทธิการเลิกสัญญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ แต่โจทก์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ โดยบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อนหากไม่ชำระหนี้จึงบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387ได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 ไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายใน 3 วันหากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เห็นว่า ระยะเวลา 3 วัน ที่โจทก์กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่จำนวน 29,910 บาทนั้น นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แล้วเมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนด การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมเอาไว้ในสัญญาเช่าซื้อและค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ข้อตกลงเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 นั้นเป็นการห้ามเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่การเช่าซื้อแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share