คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9516/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินมีการกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ 2 กรณี กรณีแรกผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญา แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ เพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น กรณีที่สอง ผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ กรณีของโจทก์เป็นการเรียกดอกเบี้ยสูงขึ้นจากเดิมเพราะจำเลยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา โดยโจทก์มิต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า แต่การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ เนื่องจากเป็นทำนองค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในกรณีไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเมื่อสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 1,800,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนโดยจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 หากผิดนัด 2 งวดติดต่อกันยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจากต้นเงินที่ยังค้างชำระทั้งหมดได้ จำเลยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 1,800,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีหลังจากกู้ยืมเงินไปแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,163,862.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,785,308.43 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,528 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่กู้ยืมจำนวน 1,785,308.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด (วันที่ 22 มิถุนายน 2538) และชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 2,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2539)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 10844 และ 10845 ตำบลหนองไผ่ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบถ้วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยของเงินค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้นให้นับแต่วันถัดจากวันฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 18ต่อปี ตามสัญญากู้เงินข้อ 2 (เอกสารหมาย จ.5) หรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้เงินที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันนั้นระบุถึงเรื่องการคิดดอกเบี้ยไว้ ทั้งในสัญญาข้อ 1 และสัญญาข้อ 2 กล่าวคือ ในสัญญาข้อ 1วรรคสองระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญา ผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 1 (คือร้อยละ 12.25 ต่อปี) ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญาตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าโดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนในข้อ 2 มีระบุไว้ย่อหน้าสุดท้ายว่าผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ ดังนั้น กรณีของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยสูงขึ้นจากเดิม เพราะกรณีจำเลยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าเดิมในขณะทำสัญญาได้ โดยมิต้องแจ้งให้จำเลยทราบเหมือนดังที่ระบุไว้เป็นเงื่อนไขดังความในสัญญาข้อ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย แต่การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ เนื่องจากเป็นทำนองค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในกรณีไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ ให้ถูกต้องสมควร เมื่อสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 กรณีของโจทก์เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในระบบต่ำมาก และยังมีแนวโน้มที่จะต่ำลงอีก การจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดในกรณีเช่นนี้สูงเกินไปเห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็พอสมควรแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินที่กู้ยืมจำนวน 1,785,308.43บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 22 มิถุนายน 2538) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share