คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2439/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ภายในกำหนดให้แก่โจทก์โจทก์รับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ครบถ้วน ส่วนงวดที่ 4 ชำระเพียงบางส่วน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้บอกเลิกสัญญาหลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วโจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 โจทก์ยอมรับมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 และชำระค่าจ้างให้ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ยังคงปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจ้างต่อไป โดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ และไม่จำต้องมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก แต่จำเลยที่ 1 กลับก่อสร้างงานงวดที่ 7 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายไม่แล้วเสร็จและละทิ้งงาน ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันในกรณีส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาแต่หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วคู่กรณีก็ไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญ ดังนี้ วันที่มีการส่งมอบงานล่าช้าจึงไม่มีอีกต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้เสร็จตามสัญญาจ้าง เพื่อทดแทนความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 และหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 223
จำเลยที่ 1 ละทิ้งงานงวดที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2538 ซึ่งโจทก์ควรรีบใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 อันเป็นเวลาห่างกันเกือบ4 เดือน จากนั้นโจทก์เพิ่งมาทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ให้ก่อสร้างงานต่อในส่วนที่เหลือ หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือนเศษ ย่อมทำให้ราคาค่าก่อสร้างงานสูงขึ้นและส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนและให้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสองศาลทั้งสองสำนวนเป็นพับ โดยไม่แยกเป็นรายสำนวนไม่ถูกต้องเพราะสำนวนแรกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้เป็นคู่ความด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกกรมสามัญศึกษาว่าโจทก์เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดระโนดวิศวโยธา นางวาสนา เพ็งจันทร์นายลบ เพ็งจันทร์ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่าจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4ตามลำดับ

สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนลำพะยาประชานุเคราะห์ ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ในราคา 5,946,249 บาท กำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวด รวม 7 งวด โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 มอบหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 4 ต่อโจทก์ในวงเงิน 297,312.45 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จภายในกำหนดรวม 4 งวด โจทก์ชำระค่าจ้างให้จำเลยที่ 1ครบถ้วนเพียง 3 งวด ส่วนงวดที่ 4 โจทก์ชำระเพียง 59,350.36 บาท คงค้างชำระ654,199.52 บาท โดยอ้างว่าเงินงบประมาณประจำปีหมด ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วมาแต่ต้นแต่จงใจปิดบังจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปรวม 2 ครั้ง โจทก์เพิกเฉยไม่ให้คำตอบ ต่อมาโจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระงวดที่ 4 แต่เป็นการชำระหลังวันพ้นกำหนดตามสัญญาแล้วถึง 130 วัน จำเลยที่ 1 ทำงานล่าช้าเนื่องจากโจทก์ไม่ชำระค่าจ้างตามสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 5 และที่ 6 เสร็จสิ้น พร้อมทั้งส่งมอบงานแก่โจทก์ โจทก์ชำระค่าจ้างครบถ้วนแล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 7 ได้ประมาณร้อยละ 90 คิดเป็นเงิน 850,000 บาท โจทก์ก็ยังไม่มีคำตอบอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลาก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับเรียกให้โจทก์ชำระค่าจ้างที่ได้ทำงานไปแล้ว 850,000 บาท และขอคืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 4แต่โจทก์เพิกเฉย ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายเพียง 700,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,712.33 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 720,712.33 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 700,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 4 แก่จำเลยที่ 1

โจทก์ให้การว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียน โดยจำเลยที่ 1ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาแรงงาน วัสดุเครื่องใช้ ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ชนิดดีเพื่อใช้ในงานก่อสร้างตามสัญญาจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 แล้วเสร็จ และส่งมอบแล้ว โจทก์ชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ครบถ้วน แต่คงค้างชำระค่าจ้างงวดที่ 4 บางส่วนเนื่องจากงบประมาณประจำปี 2537 ที่โจทก์ได้รับจัดสรรหมด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปรวม 2 ครั้ง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 หยุดทำงานไป 57 วัน โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบงานงวดที่ 5 ถึงที่ 7ตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าปรับตามสัญญาแต่จำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก ต่อมาโจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระงวดที่ 4 และจำเลยที่ 1ส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระค่าจ้างไปครบถ้วนแล้วแต่เมื่อถึงงวดที่ 7จำเลยที่ 1 ทำงานได้เพียงร้อยละ 40 แล้วละทิ้งงาน การที่โจทก์ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าจ้างงวดที่ 4 ครบถ้วนตามสัญญาไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่จะทำให้การก่อสร้างต้องล่าช้า เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ปฏิบัติงานรวมทั้งจัดซื้อวัสดุและจัดหาแรงงานตามสัญญา ทั้งไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างได้ โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาโจทก์มีหนังสือไม่อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ขยายเวลาก่อสร้างจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนลำพะยาประชานุเคราะห์ ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ในราคา 5,946,249บาท กำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวด รวม 7 งวด จำเลยที่ 1 ตกลงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2537หากก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนดยอมให้โจทก์ปรับวันละ 5,946 บาท และจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการคุมงานอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาไปจนถึงวันที่แล้วเสร็จ ในการนี้จำเลยที่ 4 ออกหนังสือค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 297,312.45 บาท ให้แก่โจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ทำงานแล้วเสร็จรวม 4 งวด และส่งมอบงานแล้ว โจทก์ชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ครบถ้วน แต่ชำระค่าจ้างงวดที่ 4 ให้เพียง 59,350.36 บาท คงค้างชำระ 654,199.52บาท เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2537 หมด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปรวม 2 ครั้ง และหยุดงานไปรวม 57 วัน โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบงานงวดที่ 5 ถึงที่ 7 ตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งการปรับไปถึงจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก120 วัน โจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระงวดที่ 4 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ตามลำดับซึ่งโจทก์ชำระค่าจ้างให้ครบถ้วนแล้ว สำหรับงานงวดที่ 7 จำเลยที่ 1 ทำงานได้เพียงร้อยละ40 แล้วละทิ้งงาน จากนั้นโจทก์มีหนังสือไม่อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาก่อสร้างและมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมกับแจ้งให้ชำระค่าปรับวันละ 5,946 บาท นับแต่วันผิดนัดส่งมอบงานคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปจนถึงวันบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 11 กันยายน 2538 รวม 326 วัน เป็นเงิน 1,938,396 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 2 วัน เป็นเงินค่าดอกเบี้ย146,176.29 บาท การที่จำเลยที่ 1 ละทิ้งงาน ทำให้โจทก์เสียหายและต้องว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่และต้องเสียค่าจ้างสูงขึ้นไปจากเดิมจำนวน 1,127,825.22 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,212,397.51 บาท เมื่อนำค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระจำเลยที่ 1 จำนวน700,000 บาท หักออกแล้วโจทก์ยังคงเสียหายอยู่เป็นเงิน 2,512,397.51 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ชำระค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 4 เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,512,397.51บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วยในวงเงินไม่เกิน 297,312.45 บาท

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างตามฟ้องกับโจทก์แต่จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าจ้างงวดที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนตรงเวลาตามสัญญา ทำให้การทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน เมื่อจำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาก่อสร้างโจทก์ก็ไม่ให้คำตอบ จำเลยที่ 1 ยังคงทำงานต่อมาถึงงวดที่ 7 ได้ งานประมาณร้อยละ 90 แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบจากโจทก์เรื่องขอขยายเวลาก่อสร้างทั้งที่กรรมการตรวจการจ้างประชุมแล้วมีมติเห็นควรให้ขยายเวลาก่อสร้างได้ จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาและให้โจทก์ชำระค่าจ้างที่ทำไปแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย งานที่เหลือในงวดที่ 7 มีไม่เกิน 191,825.22 บาท โจทก์ว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่สูงกว่าความเป็นจริง ในส่วนของค่าปรับตามสัญญานั้นกำหนดเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.1 ของค่าก่อสร้างทั้งหมด จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานแล้วจนถึงงวดที่ 7 ค่าปรับต้องคิดจากค่าจ้างเป็นงวดสุดท้ายซึ่งคิดได้เพียงวันละ 1,308 บาทและโจทก์มีสิทธิคิดได้เพียง 166 วัน เป็นเงิน 217,128 บาท รวมความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 408,953.22 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ออกหนังสือค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ตามฟ้องจริง แต่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 700,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 ตุลาคม 2538) ไม่ให้เกิน20,712.33 บาท ให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงิน 30,000 บาท และสำหรับจำเลยที่ 4 เป็นเงิน 8,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 4 ตุลาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 4 ให้ร่วมรับผิดไม่เกินจำนวน 297,312.45 บาท ให้ยกฟ้องสำนวนคดีแรก ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลในสำนวนหลังให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 8,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสองสำนวนทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนลำพะยาประชานุเคราะห์ ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ในราคา 5,946,249 บาท กำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวด รวม 7 งวด กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2537 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และโจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับวันละ 5,946 บาท และค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานอีกวันละ 200 บาท ในระหว่างนั้น หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ยอมให้ริบหลักประกัน จำเลยที่ 4 ออกหนังสือค้ำประกันให้ไว้เป็นเงิน 297,312.45 บาทกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้แล้วเสร็จตามสัญญา และค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานเพิ่ม หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้แก่โจทก์ภายในกำหนดรวม 4 งวดโจทก์ชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ส่วนงวดที่ 4 โจทก์ชำระให้เพียง 59,350.36 บาท คงค้างชำระเป็นเงิน 654,199.52 บาท เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2537 หมด จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือ 2 ฉบับ ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2537 และ3 พฤศจิกายน 2537 ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 120 วัน โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับชำระค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดที่ 4 วันที่ 11 พฤศจิกายน2537 โจทก์ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างชำระในงวดที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2538 ตามลำดับซึ่งโจทก์รับมอบงานและชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 7 ไม่แล้วเสร็จก็ละทิ้งงาน และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม2538 ตามเอกสารหมาย ล.7 ส่วนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน2538 ตามเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2540 โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสินธนากร ให้ก่อสร้างงานงวดที่ 7 ที่ค้างจนแล้วเสร็จในราคา 1,736,000 บาทมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างและค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ภายในกำหนดให้แก่โจทก์ โจทก์รับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน ส่วนงวดที่ 4 โจทก์ชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1เพียง 59,350.36 บาท คงค้างชำระ 654,199.52 บาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้บอกเลิกสัญญา หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแล้ว โจทก์ชำระค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมรับค่าจ้างดังกล่าว จากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6โจทก์ยอมรับมอบงานงวดที่ 5 และที่ 6 และชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงปฏิบัติต่อกันตามสัญญาจ้างต่อไป โดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ และไม่จำต้องมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีกแต่อย่างใด เพราะหากจำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จตามสัญญาโจทก์ย่อมรับมอบงานและชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ดังเช่นที่โจทก์และจำเลยที่ 1 เคยปฏิบัติมาแล้วในงวดที่ 5 และที่ 6 แต่จำเลยที่ 1 กลับดำเนินการก่อสร้างงานงวดที่ 7 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายไม่แล้วเสร็จก็ละทิ้งงานทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ส่วนปัญหาต่อไปเรื่องค่าเสียหายนั้นเห็นว่าแม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน วันละ 5,946 บาท ในกรณีส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 15 ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างแล้ว คู่กรณีโดยจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าจ้างเป็นงวดเป็นสาระสำคัญ โจทก์ก็ไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญ ดังนี้วันที่มีการส่งมอบงานล่าช้าจึงไม่มีอีกต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่เป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในการทำงานนั้นต่อให้เสร็จตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 16 เท่านั้น ซึ่งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการเรียกค่าเสียหายเพื่อทดแทนความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223เมื่อจำเลยที่ 1 ละทิ้งงานงวดที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2538 ซึ่งโจทก์ควรรีบใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น แต่โจทก์กลับปล่อยปละละเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2538 อันเป็นเวลาห่างกันเกือบ4 เดือน จากนั้นโจทก์เพิ่งมาทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสินธนากรให้ก่อสร้างงานต่อในส่วนที่เหลือเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1แล้วเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือนเศษ โดยไม่ปรากฏเหตุผลแห่งความล่าช้า ดังนี้ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นดังกล่าวย่อมทำให้ราคาค่าก่อสร้างงานสูงขึ้นและส่วนที่ก่อสร้างไปแล้วเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลานานที่ผ่านมา เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์โดยใช่เหตุรวมอยู่ด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ทั้งสองสำนวนและให้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสองศาลทั้งสองสำนวนเป็นพับ โดยไม่แยกเป็นรายสำนวนนั้นไม่ถูกต้อง เพราะสำนวนแรกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้เป็นคู่ความด้วย จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ของสำนวนแรกแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ของสำนวนหลังแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 4ในสำนวนหลังทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share