คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2538และโจทก์ได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5เมษายน 2538 ครบกำหนดชำระแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 6 เมษายน2538 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 6 เมษายน 2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 มิใช่ว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่โจทก์ยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลย
เมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตและบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างแล้ว จำเลยได้ยินยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน2540 ซึ่งถือมิได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ แต่แสดงว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้อง ดังนั้นแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึง 2 ครั้งดังกล่าว ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และการนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิม กล่าวคือ นับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2540 โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2541 ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 61,301.61บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 40,906.78บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 61,301.61 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 40,906.78 บาท โดยเริ่มนับแต่วันถัดจากวันฟ้องวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยจำเลยอ้างว่า การชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว เป็นเพียงการที่จำเลยไม่ใช้สิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ มีผลให้จำเลยไม่อาจเรียกคืนได้เท่านั้น หาใช่เป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ โจทก์นำคดีมาฟ้องภายหลังที่สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว และเนื่องจากโจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาว่า โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องหนี้รายนี้ได้เมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลย และหลังจากนั้นจำเลยได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์แจ้งยกเลิก จึงเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความจึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหาทั้งของโจทก์และจำเลยไปพร้อมกัน และในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตชื่อ บัตรกรุงศรี – วีซ่าของโจทก์ โดยจำเลยสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสดจากร้านค้าหรือสถานบริการ หรือถอนเงินสดผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือธนาคารอื่นที่โจทก์อนุญาตทั้งนี้โจทก์จะออกเงินทดรองแทนไปก่อน และจำเลยตกลงจะชำระหนี้คืนแก่โจทก์ตามยอดหนี้และกำหนดเวลาที่โจทก์ออกใบแจ้งยอดบัญชีให้จำเลยทราบ หากไม่ชำระยอมเสียเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หลังจากนั้นจำเลยได้นำบัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้าบริการรวมทั้งเบิกเงินสดหลายครั้งและโจทก์ได้ออกใบแจ้งยอดบัญชีให้จำเลยทราบ แต่จำเลยไม่ชำระ โดยจำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2538 และโจทก์ได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2538ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงบอกเลิกการใช้บัตรเครดิตกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2538 ต่อมาจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนรวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และวันที่ 12กันยายน 2540 หักชำระหนี้แล้วจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องจำนวน61,301.61 บาท เห็นว่า ตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรเครดิตตามใบสมัครการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตกรุงศรี – วีซ่า ของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3ข้อ 5 ที่ว่า การใช้บัตรเบิกเงินสดจากธนาคารหรือชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการต่าง ๆ แทนการชำระเงินสดหรือจะโดยวิธีใดก็ตาม ผู้ถือบัตรจะต้องชำระคืนให้ธนาคารพร้อมกับค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) หากชำระไม่หมดยอดคงค้างจะปรากฏในใบแจ้งยอดบัญชีในงวดต่อไป ผู้ถือบัตรจะต้องชำระคืนให้ธนาคารในจำนวนที่ธนาคารได้กำหนดหรือตามเงื่อนไขที่ธนาคารได้กำหนดขึ้นโดยธนาคารจะคิดเบี้ยปรับผิดสัญญาร้อยละ 1 ต่อเดือน บวกดอกเบี้ยคิดตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินกู้กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นและข้อ 9 ที่ว่าการชำระหนี้ให้กับธนาคารผู้ถือบัตรจะต้องกระทำภายในเวลาที่ธนาคารกำหนดและต้องชำระเป็นเงินบาท หากผู้ถือบัตรไม่สามารถติดต่อกับธนาคารได้จะต้องมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำการแทน โดยแจ้งชื่อและสถานที่ติดต่อกับบุคคลนั้นให้ธนาคารทราบนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 ที่มีเนื้อความระบุว่ารวมยอดหนี้ที่ต้องชำระ และโปรดสั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมในนามของธนาคารโจทก์ภายในวันตามที่โจทก์กำหนดแล้ว กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเกิดขึ้นจากการที่จำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้ไว้โดยแน่นอนทุกเดือน การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนด คงมีผลเพียงว่าจำเลยต้องเสียเบี้ยปรับและดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่ค้างชำระให้โจทก์เท่านั้นหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มีเงื่อนไขระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยไว้ล่วงหน้าไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2538 และโจทก์ได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2538 ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระโจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2538 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 6 เมษายน 2540 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้มิใช่ว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2538 อันเป็นวันที่โจทก์ยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลย อย่างไรก็ดีเมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตและบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างแล้ว จำเลยได้ยินยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2540 ซึ่งถือมิได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำแก้ฎีกา แต่แสดงว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้อง ดังนั้น แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึง 2 ครั้งดังกล่าวย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วมิใช่เป็นเพียงแต่จำเลยไม่ใช้สิทธิปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา จำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และการนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิมกล่าวคือนับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2540โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share