คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องโจทก์เป็นความผิดอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดิน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์และจำเลยที่ 1โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์จึงสืบเนื่องมาจากที่จำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซิเมนต์จำนวน18 ต้นนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นอ้างแต่ว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุกลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าคำฟ้องดังกล่าวเป็นเท็จ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 บรรยายฟ้องว่า “โจทก์กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่อ ได้บังอาจบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยไม่มีเหตุอันควรเข้าไป โจทก์กับพวกรวม 3 คนยังได้บังอาจร่วมกันลักทรัพย์เสาปูนจำนวน 18 ต้น ราคาต้นละ 350 บาทรวมเป็นเงิน 6,300 บาท ไปโดยทุจริต และโจทก์กับพวกรวม 3 คนได้บังอาจร่วมกันทำลายต้นไม้ แล้วขุดดินในที่ดินของจำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นจำเลยที่ 1) จนเป็นร่องคู เป็นเหตุให้ที่ดินของจำเลยเสียสภาพแห่งที่ดินเดิมเพื่อถือเอาที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินของโจทก์กับพวก อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของจำเลยโดยปกติสุข เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย” ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงโจทก์ไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของจำเลย โจทก์ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการพัฒนาที่ดินของโจทก์เสมือนวิญญูชนพึงกระทำต่อทรัพย์สินของตนเองและมีเหตุตามกฎหมายที่จะกระทำเช่นนั้นได้ โจทก์ไม่เคยลักหรือเอาไปหรือทำการเคลื่อนย้ายเสาปูนตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพราะรอบอาณาเขตที่ดินของโจทก์ไม่มีเสาปูนปักไว้ การบรรยายฟ้องซึ่งข้อความอันเป็นเท็จโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาที่จะให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย วันที่ 28 กรกฎาคม 2536 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1ได้นำจำเลยที่ 2 มาเบิกความที่ศาลชั้นต้นว่า “เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2534เวลา 13 นาฬิกา นายผ่อง บัวชุม มาหาข้าฯ ที่บ้าน บอกว่า พันโทธีระนางจำเนียรและนางหนูกล่อง (ที่ถูกเป็นนางหนูกรอง) บุกรุกเข้ามาถอนเสาปูนในที่ดินด้านที่ติดกับที่ดินของนายยิ่ง รุ่งขึ้นวันที่ 22 กันยายน 2534เวลา 10 นาฬิกา ข้าฯ กับนางสาวจรูญรัตน์ขับรถไปดูที่ดิน โดยข้าฯกับนางสาวจรูญรัตน์นั่งดูอยู่บนรถเห็นจำเลยทั้งสามกำลังใช้ให้ผู้ชาย4 คน ถึง 5 คน ถอนเสาปูนที่ติดกับที่ดินของนายยิ่ง ขณะนั้นเสาที่ปักที่แนวเขตยังเหลือ 4 ต้นถึง 4 ต้น” ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้นและเป็นข้อสำคัญในคดี ความจริงโจทก์ไม่เคยเข้าในที่ดินของจำเลยและอาณาเขตที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้อยู่ติดกับที่ดินของนายยิ่งและไม่มีเสาปูนปักไว้ในบริเวณอาณาเขตที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่เคยใช้หรือมีคำสั่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปในที่ดินของจำเลยเพื่อถอนเสาปูนตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความ การเบิกความของจำเลยที่ 2 เป็นการเบิกความเท็จในคดีอาญา ซึ่งหากศาลเชื่อตามคำเบิกความดังกล่าวอาจทำให้โจทก์ได้รับโทษในทางอาญา การกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 2 มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง คือการเบิกความเท็จทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้นำจำเลยที่ 3มาเบิกความเป็นพยานในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเป็นความเท็จว่า”เมื่อเดือน 10 ขึ้น 13 ค่ำ นาน 3 ปีถึง 4 ปีแล้ว เวลากลางวัน ข้าฯ เห็นจำเลยทั้งสามยืนอยู่ข้างถนน ถนนติดที่ดินพิพาทมีชาย 3 คนถึง 4 คนกำลังถอนเสาปูนที่ข้าฯ ปักไว้ออก จำเลยทั้งสามชี้ให้ชาย 3 คนถึง 4 คนนั้นถอนเสาปูนมากองไว้ตรงนี้ ข้าฯ เห็นดังนั้นก็เข้าไปห้ามจำเลยทั้งสามว่าอย่าถอนเสาของโจทก์ แต่จำเลยก็ไม่เชื่อฟัง” ความจริงแล้วโจทก์ไม่เคยใช้หรือจ้างวานหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปถอนเสาปูนตามที่จำเลยที่ 3เบิกความ เพราะที่ดินเฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครองไม่มีเสาปูนปักไว้การเบิกความของจำเลยที่ 3 เป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญของคดีและเป็นการพิจารณาของศาลในคดีอาญา หากศาลเชื่อคำเบิกความดังกล่าวจะทำให้โจทก์ได้รับโทษในทางอาญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้เพราะมีความประสงค์จะดำเนินคดีเองขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 2 นั้น เป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินแต่อย่างใดโจทก์และจำเลยที่ 1 โต้แย้งกันในที่ดินพิพาทโดยต่างก็อ้างว่าตนเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากผู้อื่น ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในความผิดอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์นั้น โจทก์ได้ว่าจ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดที่ดินพิพาทเพื่อปรับสภาพที่ดินใช้ทำประโยชน์ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์นั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตในขณะนั้นว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และการที่โจทก์จ้างรถแบกโฮเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย การที่จำเลยที่ 1ฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องโดยสุจริตตามที่จำเลยที่ 1เชื่อว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาท แล้วนำข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปฟ้องโจทก์แต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ข้อหาลักทรัพย์เสาปูนซีเมนต์จำนวน 18 ต้น และจำเลยที่ 2 ได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่าในวันที่ 22 กันยายน 2534 เวลา 10 นาฬิกา จำเลยที่ 2 กับนางสาวจรูญรัตน์ขับรถไปดูที่ดินพิพาทเห็นโจทก์กับพวกกำลังใช้ให้ผู้ชาย 4 คนถึง 5 คน ถอนเสาปูนซิเมนต์ออกจากแนวเขตที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่าแม้ข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นเพียงแต่อ้างว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1(โจทก์ในคดีดังกล่าว) มีเพียงนายผ่องเป็นประจักษ์พยานคนเดียวแต่นายผ่องเบิกความขัดแย้งกันเอง ไม่สมเหตุผล พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เป็นพิรุธชวนให้สงสัยว่าโจทก์กับพวก (จำเลยในคดีดังกล่าว)ได้ลักเอาเสาปูนซิเมนต์ของจำเลยที่ 1 ไปจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่โจทก์กับพวก ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์ และคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีมูล ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share