คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์และจำเลยทั้งสี่แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เป็นส่วนที่เกินจากจำนวนเนื้อที่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน พ.ศ. 2532 ก็ตาม แต่เนื่องจากการเวนคืนที่ดินในกรณีนี้ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15ดังนั้น การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องกระทำโดยอาศัยกฎหมายในรูปของพระราชบัญญัติซึ่งต้องระบุรายละเอียดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่ามีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 เวนคืน ที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้าย พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งปรากฏรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามบัญชีท้าย พระราชบัญญัติให้แก่กรมทางหลวงแต่ตามบัญชีรายชื่อและแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติระบุว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 ไร่ 64 ตารางวาโดยข้อความใน มาตรา 4 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้เวนคืนที่ดินภายในแนวเขตตามแผนที่และบัญชีรายชื่อท้ายพระราชบัญญัติเท่านั้นทั้งตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้บัญญัติไว้ว่า ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนแล้วโดยให้ระบุที่ดินที่ต้องเวนคืนพร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของและให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตที่ต้องเวนคืนอย่างชัดเจนไว้ท้ายพระราชบัญญัติ และให้ถือว่าแผนที่หรือแผนผังนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติด้วยดังนั้น จำนวนเนื้อที่ดินและรูปแผนที่ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนและแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องเป็นจำนวนที่ถูกเวนคืนที่แน่นอน เมื่อจำเลยที่ 4 นำชี้แนวเขตทางเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่ารูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 แม้ยังอยู่ในระยะ 240 เมตรตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายคลองตัน-หนองงูเห่า พ.ศ. 2522กำหนดไว้ ก็ต้องถือว่าส่วนที่จำเลยที่ 4 นำชี้เพิ่มอีก3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ถูกเวนคืนด้วยไม่ได้ เมื่อที่ดินที่จำเลยที่ 4 นำชี้ให้รังวัดปักหลักเขตเข้า ไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนเพิ่มอีก3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ไม่ใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืนตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ย่อมไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องการที่จำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ไปนำชี้แนวเขตในนามของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามแผนที่แนวทางและระดับของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4นำชี้ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง และวางหลักปักหมุดในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนตามที่ระบุในแผนที่และบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ยังยืนยันจะเข้าไปสร้างทางในที่ดินของโจทก์ส่วนนี้ จนโจทก์ต้องดำเนินคดีทางศาล ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ระบุในคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถ ปฏิบัติตามคำขอข้างต้นได้ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินเท่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอก โดยโจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นอีกแต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยกับพวกมิให้กระทำการใด ๆในที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่มีเหตุที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง ซึ่งมีการอ่านคำสั่งในวันเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปถือครอบครองที่ดินพิพาทได้โดยพลการ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นฝ่ายจำเลยได้เข้าไปครอบครองหรือดำเนินการก่อสร้างทางในที่ดินพิพาท คงได้ความแต่เพียงว่าฝ่ายจำเลยได้นำรังวัดปักหมุดในเขตที่ดินพิพาทเท่านั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้สูญเสียที่ดินพิพาทตามฟ้องไป ดังนี้ ย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายเท่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอกตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 ตำบลคลองประเวศ(คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ)อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 8 ไร่8 ตารางวา มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายคลองตัน-หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522 กับพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายคลองตัน-หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 และมีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลอง-สามประเวศแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน-ลาดกระบังพ.ศ. 2532 ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเนื้อที่ 3 ไร่ 64 ตารางวา ต่อมาวันที่17 มกราคม 2537 จำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นนายช่างแขวงการทางกรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2โดยเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยที่ 4 กับพวกได้ชี้เขตเวนคืนที่ดินและปักหลักไว้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 ทุกจุด แล้วให้นายประหยัด เหมือนฉาย ช่างรังวัดของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดกระบัง กับพวกฝังหมุดหลักเขตที่ดินแสดงเขตเวนคืนเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเส้น สีน้ำเงินเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ที่ดินที่นายประหยัดทำการรังวัดและปักหมุดตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 ไว้เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 89 ตารางวา เกินกว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน 25 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายขอให้ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดเลขที่ 6395 ตำบลคลองประเวศ (คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ)อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) จังหวัดพระนคร ภายในเส้นสีน้ำเงิน เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 18,892,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน4,061,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน18,892,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6395ตำบลคลองสามประเวศ (คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ)อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) จังหวัดพระนคร ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศเขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน-ลาดกระบัง พ.ศ. 2532เวนคืนที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองจำนวนเนื้อที่ 3 ไร่64 ตารางวา ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ทั้งสองเพิ่มตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในราคาตารางวาละ300 บาท และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2537 โจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 4 และเจ้าพนักงานที่ดินได้ร่วมกันไปทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพื่อแบ่งแยกที่ดินตามที่ถูกเวนคืน จำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3 ให้ไปนำชี้แนวเขตทางในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้นำชี้และปักหลักกำหนดแนวเขตทางเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเนื้อที่เกินกว่าที่กำหนดในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 ไปอีก 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวาโจทก์ทั้งสองจึงคัดค้านการรังวัดและมาฟ้องเป็นคดีนี้ โดยคู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า “ที่ดินโจทก์เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นส่วนที่เกินจากจำนวนเนื้อที่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532” คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองดังต่อไปนี้
ประเด็นข้อแรก จำเลยทั้งสี่นำชี้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่าที่ถูกเวนคืนตามกฎหมายหรือไม่เพียงใด จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนซึ่งกำหนดตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 เป็นการคำนวณโดยสังเขป เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า พ.ศ. 2522 กำหนดแนวทางไว้กว้างถึง240 เมตร แต่แนวเขตที่สำรวจจะมีแนวศูนย์กึ่งกลางเป็นหลักวัดออกไปข้างละ 40 เมตร ดังนั้น เมื่อออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกันไปรังวัดกำหนดแนวเขตที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้นำชี้แนวเขตตามแผนที่แนวทางและระดับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.9 ถึง ล.11ซึ่งอยู่ในระยะ 240 เมตร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ การคำนวณเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งระบุไว้ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ เป็นการคำนวณโดยประมาณ เมื่อการนำชี้ยังอยู่ในระยะ 240 เมตร และปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองจะต้องถูกเวนคืนเพิ่มอีก 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ก็ต้องถือว่าส่วนที่เกินนั้นถูกเวนคืนโดยชอบด้วยกฎหมาย นั้นเห็นว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่แถลงรับข้อเท็จจริงกันแล้วว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เป็นส่วนที่เกินจากจำนวนเนื้อที่ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ดินส่วนที่เกินจากจำนวนเนื้อที่ตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532ดังกล่าวถูกเวนคืนตามกฎหมายด้วยดังจำเลยทั้งสี่ฎีกาหรือไม่เนื่องจากการเวนคืนที่ดินในกรณีนี้ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งมาตรา 15ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เมื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนแล้ว ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยให้ระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องเวนคืนพร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย
ให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนอย่างชัดเจนไว้ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้ถือแผนที่หรือแผนผังนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินั้น
เขตอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องปักหลักหมายเขตไว้โดยชัดเจนก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติ”
ดังนั้น การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องกระทำโดยอาศัยกฎหมายในรูปของพระราชบัญญัติซึ่งต้องระบุรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นด้วย ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่ามีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 ตามเอกสารหมาย ล.2เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ซึ่งปรากฏรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้แก่กรมทางหลวงเมื่อตรวจดูบัญชีรายชื่อและแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเอกสารหมาย ล.2 ระบุว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 ไร่ 64 ตารางวา ตามรูปแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติโดยข้อความในมาตรา 4 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้เวนคืนที่ดินภายในแนวเขตตามแผนที่และบัญชีรายชื่อท้ายพระราชบัญญัติเท่านั้น ทั้งตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้บัญญัติไว้ว่า ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนแล้ว โดยให้ระบุที่ดินที่ต้องเวนคืนพร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของและให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตที่ต้องเวนคืนอย่างชัดเจนไว้ท้ายพระราชบัญญัติ และให้ถือว่าแผนที่หรือแผนผังนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติด้วย ดังนั้นจำนวนเนื้อที่ดินและรูปแผนที่ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนและแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จึงต้องเป็นจำนวนที่ถูกเวนคืนที่แน่นอนเมื่อจำเลยที่ 4 นำชี้แนวเขตทางเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่ารูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 แม้ยังอยู่ในระยะ 240 เมตรตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ ก็ต้องถือว่าส่วนที่จำเลยที่ 4 นำชี้เพิ่มอีก 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวาถูกเวนคืนด้วยไม่ได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 มาตรา 4 ดังนั้น ที่ดินที่จำเลยที่ 4นำชี้ให้รังวัดปักหลักเขตเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพิ่มอีก3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา จึงไม่ใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืนตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง การที่จำเลยที่ 3มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ไปนำชี้แนวเขตในนามของจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามแผนที่แนวทางและระดับของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4นำชี้ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองและวางหลักปักหมุดในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนตามที่ระบุในแผนที่และบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2532 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้โต้แย้งคัดค้านแล้วแต่จำเลยทั้งสี่ยังยืนยันจะเข้าไปสร้างทางในที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้จนโจทก์ทั้งสองต้องดำเนินคดีทางศาล ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ประเด็นข้อที่ 2 โจทก์ทั้งสองเสียหายหรือไม่เพียงใด จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2ได้นำเงินค่าทดแทนที่ดิน ส่วนที่ดินพิพาทไปวางไว้ต่อศาลแพ่งแล้วจึงไม่มีค่าเสียหายที่ต้องชำระอีกเห็นว่า โจทก์ทั้งสองระบุในคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องภายในเส้นสีน้ำเงินเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามคำขอข้างต้นได้ให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 18,892,500 บาท เท่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอกโดยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นอีก ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยกับพวกมิให้กระทำการใด ๆ ในที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ตามคำร้องลงวันที่ 3 ตุลาคม 2540 จำเลยทั้งสี่ยื่นคำแถลงคัดค้าน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วคดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่มีเหตุที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ” ซึ่งมีการอ่านคำสั่งในวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืน จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปถือครอบครองที่ดินพิพาทได้โดยพลการ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นฝ่ายจำเลยได้เข้าไปครอบครองหรือดำเนินการก่อสร้างทางในที่ดินพิพาท คงได้ความแต่เพียงว่าฝ่ายจำเลยได้นำรังวัดปักหมุดในเขตที่ดินพิพาทเท่านั้นโจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้สูญเสียที่ดินพิพาทตามฟ้องไปแต่อย่างใดจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายเท่าราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอกตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ต่อโจทก์ทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 ตำบลคลองสามประเวศ(คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ) อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ)จังหวัดพระนคร ภายในเส้นสีน้ำเงิน เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน74 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสองมิได้ถูกเวนคืน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกแต่หากฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างถนนบนที่ดินพิพาทไปแล้วก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share