แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องตอนแรกบรรยายว่าจำเลยจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยเรียกและรับค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากคนหางานโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานตามกฎหมาย แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่าจำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงอันควรบอก ให้แจ้งว่าจำเลยสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยไปทำงานเป็นกรรมกรในต่างประเทศ ซึ่งจะได้เงินเดือนในอัตราสูงได้ ความจริงแล้วจำเลย ไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานยังต่างประเทศตามที่ได้หลอกลวงไว้ เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนา จัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อ จะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30,82
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2533 เวลากลางวันถึงวันที่ 17 มีนาคม 2534 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้จัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เรียกและรับค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากคนหางาน โดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหางานเพื่อส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ในเขตจังหวัดอุดรธานี และจำเลยโดยเจตนาทุจริตได้หลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงอันควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยไปทำงานเป็นกรรมกรในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้เงินเดือนในอัตราสูงเดือนละ 40,000 ถึง 60,000 บาท แต่ต้องเสียค่าบริการให้แก่จำเลยคนละ 200,000 บาทอันเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดให้คนหางานไปประเทศญี่ปุ่นและได้ทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยรับค่าจ้างตามที่กล่าวอ้างได้ และโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปและผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงพากันสมัครเพื่อไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นและชำระค่าบริการตามจำนวนที่เรียกร้องให้แก่จำเลยไป โดยนายสมคิด ศรีเมืองชำระจำนวน220,000 บาท นายพิมล แสนสะอาด ชำระจำนวน 200,000 บาทและนายชุนหรือสมบัติหรือวิบูลย์ ไชยเหง้า ชำระจำนวน 200,000บาท รวมเป็นเงิน 620,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน620,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายชุนหรือสมบัติ ไชยเหง้า และนายพิมลแสนสะอาด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82จำคุก 3 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกายกขึ้นเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 215และมาตรา 195 วรรคสอง แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 และเห็นว่า คำฟ้องตอนแรกบรรยายว่าจำเลยจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่ประเทศญี่ปุ่นโดยเรียกและรับค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากคนหางานโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานตามกฎหมาย แต่คำฟ้องของโจทก์ตอนหลังที่ว่าจำเลยโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงอันควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยไปทำงานเป็นกรรมกรในประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะได้เงินเดือนในอัตราสูงได้ ความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นตามที่ได้หลอกลวงไว้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหาย คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหานี้มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง