คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แถลงขอให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้โดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจถามค้านอีก เนื่องจากได้มีการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตในขณะนั้น แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยไป เท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำบันทึกคำให้การชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทนายโจทก์แถลงขอให้ศาลใช้บันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน คำเบิกความพยานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องนำมารับฟังในชั้นพิจารณาได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 237 วรรคสอง เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น” ซึ่งความผิดที่โจทก์ฟ้องล้วนแต่ไม่เข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้โจทก์สืบพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคดีมีมูล ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ว่า นัดพร้อม ทนายโจทก์และทนายจำเลยมาศาล ทนายโจทก์แถลงคงติดใจสืบพยานอีก 2 ปาก โดยเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกับโจทก์และจำเลย ส่วนพยาน 2 ปาก ที่เคยนำมาสืบแล้วในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานขอใช้คำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้อง สอบทนายจำเลยแล้วแถลงไม่ค้านและแถลงว่าจำเลยมีพยาน 3 ปาก ใช้เวลาสืบพยานครึ่งวัน ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ต่อมาเมื่อถึงวันนัดดังกล่าว ทนายโจทก์แถลงว่าเมื่อขอใช้คำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว จึงไม่ติดใจสืบพยานอื่น ๆ แล้วหมดพยาน จำเลยไม่ค้าน จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานจนเสร็จ ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับ โจทก์แถลงขอให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน จึงถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้โดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจถามค้านอีก เนื่องจากได้มีการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตในขณะนั้น แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยไป จึงเท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำบันทึกคำให้การชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 237 วรรคสอง ดังนี้ บันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยฟังว่าคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่อาจนำมารับฟังเป็นพยานในชั้นพิจารณาได้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยพยานของโจทก์และพยานจำเลย จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share