แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ธนาคารนำเช็คของผู้อื่นเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยผิดไปธนาคารเพิกถอนรายการนั้นได้ จำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร ธนาคารอนุมัติ ถือเป็นบัญชีเดินสะพัดตาม มาตรา 856 จำเลยนำเงินเข้าและเบิกเงินไปตลอดมา ธนาคารเรียกเงินคงเหลือจากจำเลยเมื่อตัดทอนบัญชีเดินสะพัด ไม่ใช่ลาภมิควรได้ ไม่ใช้อายุความ 1 ปีตาม มาตรา 419
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า “การที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันหรือบัญชีเดินสะพัดตามเอกสารหมาย จ.4 ด้านหลัง ถือว่าเป็นการตกลงกันให้ตัดทอนบัญชีหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อหักกลบลบกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และจำเลยได้สะพัดบัญชีของตนตลอดมาซึ่งโจทก์ก็แจ้งยอดเงินให้จำเลยทราบเป็นระยะ ๆ จากหลักฐานที่โจทก์แจ้งให้ทราบ จำเลยย่อมทราบว่าจำเลยได้ประโยชน์จากการที่โจทก์นำเงินเข้าบัญชีผิดพลาด โดยย่อมทราบว่าโจทก์นำเงินที่จะเข้าบัญชีอื่นมาเข้าบัญชีของจำเลยเมื่อโจทก์ตรวจพบความผิดพลาดดังกล่าว โจทก์มีสิทธิหักถอนบัญชีเอาเงินจำนวนที่โจทก์นำเข้าบัญชีผิดออกจากบัญชีของจำเลยไว้ แต่การที่จำเลยขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์จะฟังว่าเป็นการขอเบิกเงินเกินบัญชีด้วยไม่ได้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยไม่ได้ และไม่มีข้อตกลงกันว่าให้คิดดอกเบี้ยกันได้เท่าใด โจทก์จึงควรได้ดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2517 อันเป็นวันที่มีการหักทอนบัญชีกันโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามกฎหมายว่าด้วยบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่ใช่ฐานลาภมิควรได้คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 24,578 บาท 23 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2517 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ตรวจพบข้อผิดพลาดทางบัญชีว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์นำยอดเงินฝาก 29,555 บาทของผู้อื่นไปลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ยกเลิกรายการเงินฝาก 29,555 บาทจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นการกระทำที่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายตามคำสั่งของจำเลยเกินไปจากบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 24,578 บาท 23 สตางค์ ซึ่งเป็นหนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยบัญชีเดินสะพัด โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเงิน 29,555 บาทของผู้อื่นที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปเข้าบัญชีของจำเลยโดยผิดพลาด จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องเข้าบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้และไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเรื่องอายุความอีกด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2517 นั้นเกินคำขอของโจทก์เพราะโจทก์พบข้อผิดพลาดดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2517 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2517 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นอันยุติฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2517 ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์สาขาถนนศรีอยุธยา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 โดยไม่มีเจตนาตกลงเบิกเงินเกินบัญชีกัน และไม่ได้ตกลงกันว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด แล้วจำเลยที่ 1 นำเงินฝากธนาคารโจทก์ในบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 57,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากธนาคารโจทก์ และออกเช็คสั่งจ่ายเบิกเงินไปจากธนาคารโจทก์หลายครั้ง ธนาคารโจทก์ส่งใบแจ้งยอดเงินฝากไปให้จำเลยทราบทุกเดือนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2517 เจ้าหน้าที่ธนาคารนำเงินฝากของโรงงานผลิตสารส้มจำนวน 29,555 บาทเข้าฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 ด้วยความพลั้งเผลอ จำเลยทราบเงินฝากจำนวนดังกล่าวจากใบแจ้งยอดเงินฝากที่ธนาคารโจทก์ส่งไปให้ และจำเลยทราบว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 นำไปฝาก หลังจากนั้นจำเลยคงนำเงินเข้าฝากธนาคารโจทก์และออกเช็คสั่งจ่ายเบิกเงินไปจากธนาคารโจทก์อีกหลายครั้ง จนถึงวันที่ 12ธันวาคม 2517 ปรากฏจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีเงินเหลืออยู่ในธนาคารโจทก์ 4,976 บาท 77 สตางค์ ต่อมาวันที่13 ธันวาคม 2517 ธนาคารโจทก์ตรวจพบความผิดพลาดที่นำเงินฝากของโรงงานผลิตสารส้มจำนวน 29,555 บาทเข้าฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1ธนาคารโจทก์จึงตัดเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 แล้วนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของโรงงานผลิตสารส้ม เมื่อตัดเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์อยู่ 24,578 บาท 23 สตางค์ธนาคารโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบและบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวเลิกบัญชีเดินสะพัดและให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยทั้งสองรับหนังสือบอกกล่าวแล้วไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ธนาคารโจทก์เอาเงินฝากของโรงงานผลิตสารส้มเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 โดยความพลั้งเผลอทำให้ยอดเงินฝากของจำเลยที่ 1 เกินไป 29,555 บาท ธนาคารโจทก์ชอบที่จะเพิกถอนรายการอันนั้นออกจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 แล้วนำไปเข้าบัญชีของโรงงานผลิตสารส้มให้ถูกต้องตรงกับความจริงได้ การที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 พร้อมทั้งส่งตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.4 และธนาคารโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ตามบัญชีเลขที่ 1608 ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวระหว่างธนาคารโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้เดินสะพัดบัญชีด้วยการนำเงินเข้าฝากธนาคารโจทก์และออกเช็คสั่งจ่ายเบิกเงินไปจากธนาคารตลอดมาเงินจำนวน 24,578 บาท 23 สตางค์ที่ธนาคารโจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยทั้งสองเป็นเงินส่วนที่คงเหลือโดยดุลยภาคหลังจากตัดทอนบัญชีหนี้สินที่ถูกต้องแท้จริงระหว่างธนาคารโจทก์กับจำเลยที่ 1ตามบัญชีเดินสะพัดแล้ว มิใช่เป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 อันมีอายุความ 1 ปีตามมาตรา 419”
พิพากษายืน