คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความตามมาตรา 914 ตอนท้ายที่วา “ได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว” เป็นบทบัญญัติให้ผู้ทรงหรือผู้สลักหลังคนหลังซึ่งถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วแลกเงินหรือเช็คซึ่งออกมาแต่ต่างประเทศและตั๋วแลกเงินหรือเช็คนั้นถูกปฏิเสธไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน กระทำเพื่อให้มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังคนก่อน ๆ ใช้เงินตามตั๋วหรือเช็คนั้นแก่ตน โดยบัญญัติวิธีการไว้ในมาตรา 960 ถึง 964 ส่วนเช็คพิพาทในคดีนี้เป็นเช็คออกในประเทศ เป็นตั๋วให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม ไม่ต้องยื่นให้รับรองและมีการคัดค้าน จึงนำมาตรา 914 ตอนท้ายมาบังคับไม่ได้ตามมาตรา 949 วรรคแรก โจทก์ผู้ทรงไม่เสียสิทธิที่จะเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยที่ 2 ผู้สั่งจ่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คซึ่งได้มาจากจำเลยที่ ๑ สลักหลังมอบชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลังเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม ๔๒,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่าได้รับเช็คตามฟ้องมาและได้ชำระหนี้ให้โจทก์จริง แต่ไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเอาจากจำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่เคยทวงถามให้ชำระหนี้ ไม่เสียหายตามฟ้อง ถึงเสียหายก็ไม่ต้องรับผิดเพราะเช็คไม่ใช่ของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ จะได้สลักหลังเช็คให้โจทก์หรือไม่ไม่รับรอง จำเลยที่ ๒ ไม่เคยสั่งจ่ายเช็คพิพาท เช็คพิพาทเป็นเช็คฉบับหนึ่งในสามฉบับ ซึ่งนางสมนึกขอยืมไปจากจำเลยที่ ๒ ตามที่นางสมนึกตกลงกับจำเลยที่ ๒ ให้นำภาพยนตร์ที่นายอนุชาถ่ายทำไปฉายในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากที่นายอนุชาตกลงไว้กับภรรยาจำเลยที่ ๒ แต่นายอนุชาไม่ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ จำเลยที่ ๒ จึงอายัดเช็คทั้งหมด ดังนั้นถ้านายอนุชาหรือนางสมนึกจะได้สลักหลังเช็คพิพาทให้จำเลยที่ ๑ ก็เป็นการสมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินตามเช็ค ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เรียกได้เพียงดอกเบี้ยนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารพ้นกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันออกเช็ค ดังนั้น แม้จำเลยที่ ๒ ไม่สั่งระงับการจ่ายธนาคารก็ต้องปฏิเสธการจ่ายอยู่นั่นเอง ฟ้องโจทก์เคลือบคุลม เพราะไม่แนบสำเนาแสดงการสลักหลังเช็คพิพาทท้ายฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม ฟังไม่ได้ว่าโจทก์สมคบกับจำเลยที่ ๑ ฉ้อฉลจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ยกข้อตกลงระหว่างนายอนุชาและนางสมนึกมาอ้างต่อสู้โจทก์ไม่ได้ ธนาคารไม่จ่ายเงินเพราะจำเลยที่ ๒ สั่งระงับการจ่าย ไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์นำเช็คพิพาทไปยื่นขอรับเงินเกิน ๖ เดือน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใดแก่จำเลยที่ ๒ โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ ๑ และเสียสิทธิอันมีต่อจำเลยที่ ๒ พิพาทให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าโจทก์เสียสิทธิที่จะเรียกร้องเอาเงินตามเช็คจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเพราะโจทก์มิได้ทำให้ถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่มีการรับรองหรือไม่จ่ายเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๔ ตอนท้ายโดยมิได้นำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนด ๖ เดือนนั้น เห็นว่าข้อความตามกฎหมายที่จำเลยที่ ๒ อ้างมามิได้หมายความดังที่จำเลยที่ ๒ ฎีกา ทั้งเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวนี้เป็นบทบัญญัติให้ผู้ทรงหรือผู้สลักหลังคนหลังซึ่งถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วแลกเงินหรือเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ และตั๋วแลกเงินหรือเช็คนั้นถูกปฏิเสธไม่รับรอง หรือไม่ใช้เงิน กระทำเพื่อให้มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังคนก่อน ๆ ใช้เงินตามตั๋วแลกเงินหรือเช็คนั้นแก่ตนโดยบัญญัติวิธีการไว้ในมาตรา ๙๖๐, ๙๖๑, ๙๖๒, ๙๖๓ และ ๙๖๔ แต่โดยเหตุที่วิธีการตามบทบัญญัติดังกล่าว ขัดกับสภาพแห่งเช็คอันเป็นตราสารที่พิพาทกันในคดีนี้ซึ่งเป็นเช็คออกในประเทศ อันเป็นตั๋วให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม ไม่ต้องยื่นให้มีการรับรองและไม่ต้องมีการคัดค้านเมื่อไม่ใช้เงิน จึงนำมาตรา ๙๑๔ ตอนท้ายมาบังคับในคดีนี้ให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ตามมาตรา ๙๘๙ วรรคแรก ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์หาเสียสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ตามที่จำเลยที่ ๒ ฎีกามาไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๓๐๐ บาท แทนโจทก์

Share