คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทต่างประเทศมีสาขาในประเทศไทย สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเช่าที่ทำการ โจทก์จ่ายค่าแรงเป็นค่าธรรมเนียมเลขานุการจะจ้างคนงานเองหรือจ้างบริษัทอื่นก็เป็นการเปิดดำเนินกิจการค้าค่าเช่าสำนักงาน ค่าเครื่องเขียนค่าโทรศัพท์ ฯลฯ เป็นค่าใช้จ่ายปกติหักออกจากรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เมื่อส่งกำไรออกนอกประเทศไม่ได้
ภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 เมษายน 2500 ถึง 31 มีนาคม 2501 โจทก์ยื่นรายการเมื่อ 22 กันยายน 2501ตามที่ได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งเมื่อ 13 กันยายน 2511 ยังไม่ขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา167

ย่อยาว

โจทก์มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย โจทก์หักรายจ่าย 3,300,859.40บาท กรรมการอุทธรณ์การประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ 807,258.94 บาทโจทก์ฟ้องคดีต่อมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์มิได้ประกอบการค้า จึงไม่มีค่าใช้จ่ายนั้น ในเรื่องนี้ตามคำเบิกความของนายพิฑูรย์ พุกกะณะสุต ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและธุรการของสาขากรุงเทพฯ ประกอบกับถ้อยคำของนายพิฑูรย์ที่ให้ไว้กับเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ตามเอกสาร ล.30, ล.32 ฟังได้ว่าโจทก์เช่าสำนักงานบางส่วนของบริษัทเดนนี่ ม้อทด์ แอนด์ ดิ๊กสัน จำกัด ตั้งเป็นสำนักงานใหญ่ โดยมีคนงานของบริษัทเดนนี่ ม้อทต์ แอนด์ ดิ๊กสัน จำกัด มานั่งทำงานประจำให้โจทก์ 4 คน โจทก์จ่ายค่าแรงงานให้บริษัทเดนนี่ ม้อทต์ แอนด์ ดิ๊กสัน จำกัด โดยถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมเลขานุการปีละ 5,000 ปอนด์ เห็นว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์มีคนทำงานเป็นประจำ ถือได้ว่าเป็นการเปิดดำเนินกิจการค้าแล้ว การจ้างพนักงานโดยตรงหรือจะจ้างบริษัทอื่นทำแทนหามีผลแตกต่างกันไม่สำนักงานใหญ่ของโจทก์จึงมีค่าใช้จ่าย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาว่า ค่าใช้จ่ายบางรายการตามเอกสาร ล.39 ถึง ล.45 คือค่าเช่าสำนักงาน ค่าเครื่องเขียน ค่าโทรศัพท์ ค่าเบ็ดเตล็ด ค่าไฟฟ้า ค่ารถ ค่าที่ปรึกษากฎหมายและค่าสอบบัญชี รวม 8 รายการ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหากำไรในประเทศไทย โจทก์มีสิทธิหักออกจากการคำนวณกำไรสุทธิปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า สำนักงานใหญ่ของโจทก์เปิดดำเนินกิจการดังนั้นค่าเช่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์ ค่าเครื่องเขียน ค่าไฟฟ้าที่บริษัทเดนนี่ ม้อทต์ แอนด์ ดิ๊กสัน จำกัด จ่ายทดรองแทนโจทก์ไปก่อน จึงเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติของสำนักงานใหญ่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิหักออกจากการคำนวณกำไรสุทธิ

ค่าโทรศัพท์ ค่าเบ็ดเตล็ด ค่ารถ รวม 3 รายการนี้ ตามถ้อยคำของนายพิฑูรย์ที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ตามเอกสาร ล.30, ล.31 ว่าเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานใหญ่ของโจทก์ โดยบริษัทเดนนี่ ม้อทต์ แอนด์ ดิ๊กสันจำกัด ออกทดรองไปก่อน แล้วคิดเฉลี่ยเอากับโจทก์ เห็นว่าค่าใช้จ่าย 3รายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานใหญ่ของโจทก์เช่นกัน ไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการหากำไรในประเทศไทย

เกี่ยวกับค่าปรึกษากฎหมายและค่าสอบบัญชี ก็ได้ความจากถ้อยคำของนายพิฑูรย์ที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 ตามเอกสาร ล.31 ว่าค่าที่ปรึกษากฎหมายเป็นค่าทนายความเช่นในการทำสัญญาว่าจ้างบุคคลมาทำงานในประเทศไทย ค่าร่างสัญญา ส่วนค่าสอบบัญชี เป็นการตรวจสอบบัญชีกำไรขาดทุนและงบดุลที่สาขาในประเทศไทยส่งไปอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่าค่าที่ปรึกษากฎหมายนอกจากโจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเกี่ยวกับกิจการในประเทศไทยแล้ว ยังขัดกับข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่า บริษัทเดนนี่ ม้อทต์ แอนด์ ดิ๊กสัน จำกัด มีหน้าที่เพียงติดตามสินค้าที่สาขากรุงเทพฯสั่งซื้อเท่านั้น หาได้มีหน้าที่เกี่ยวกับการปรึกษากฎหมายไม่เกี่ยวกับค่าสอบบัญชีก็เป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงของสำนักงานใหญ่ของโจทก์ อันเป็นการรักษาผลประโยชน์โดยทั่ว ๆ ไปของบริษัทตามที่วินิจฉัยมา ค่าใช้จ่ายทั้งแปดรายการถือไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13)และ (14) โจทก์ไม่มีสิทธิหักเป็นรายจ่าย

อนึ่งค่าเบี้ยประชุมกรรมการของสำนักงานใหญ่ของโจทก์ โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้เถียงชัดแจ้งในชั้นฎีกา ค่าใช้จ่ายรายการนี้จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนั้นคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีเงินได้เพิ่มตามเอกสาร ล.1 ถึง ล.8 คำสั่งเจ้าพนักงานประเมินที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรออกนอกประเทศตามเอกสาร ล.9 ถึง ล.12รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารล.34, ล.36 และ ล.38 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ข้อนี้เป็นอันตกไป

โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำสั่งเจ้าพนักงานประเมินที่ กค.0804/223ลงวันที่ 13 กันยายน 2511 ที่เรียกเก็บภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2500 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2501 ขาดอายุความข้อนี้การยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ โจทก์จะต้องยื่นภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 69 คือต้องยื่นภายในวันที่ 28สิงหาคม 2501 แต่โจทก์ขอยืดเวลาออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 27 กันยายน 2501อันเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรที่จะกระทำได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 3 อัฏฐ โจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2501เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่โจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่ง คือวันที่ 13 กันยายน 2511 สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2500 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2501 จึงยังไม่เกินสิบปี ค่าภาษีเงินได้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินที่ กค.0804/223 จึงหาขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 ไม่”

พิพากษายืน

Share