แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ธนาคารคิดดอกเบี้ยลงยอดเงินหักกลบลบหนี้เดือนละครั้งตามประเพณีของธนาคาร แล้วแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ลูกหนี้ไม่โต้แย้งอย่างใดถือว่ามีการหักทอนบัญชีกัน ไม่ขัดต่อมาตรา856 ไม่ต้องให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมตรวจสอบคิดบัญชีกันอีก
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 20,211,707.48 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี โดยบังคับจำนอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินเป็น 20,066,637.88 บาท จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1ได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันไว้กับโจทก์ตามบัญชีเลขที่ 8960ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ไว้ 2 ฉบับ โดยใช้บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 8960 ในการนี้จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 อีก ภายหลังจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและแจ้งบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว
ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกามีว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่มีการคิดตัดบัญชีกันเลยนั้น ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า การเดินสะพัดทางบัญชีนั้น หากจำเลยที่ 1นำเช็คมาเบิกเงินจะนำลงในช่องลูกหนี้ หากนำเงินเข้าฝากจะลงในช่องเจ้าหนี้ส่วนในช่องคงเหลือ ถ้าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตัวเลขจะเป็นสีแดง แต่ถ้าจำเลยที่ 1เป็นเจ้าหนี้ตัวเลขจะเป็นสีดำ ส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแต่ละเดือนตามข้อสัญญาโจทก์ก็คำนวณและลงไว้ในบัญชีโดยแสดงรายการว่าเป็นค่าดอกเบี้ย จำนวนเงินดอกเบี้ยแต่ละครั้งก็อยู่ในช่องลูกหนี้ ทุกครั้งที่จำเลยที่ 1นำเงินเข้าฝากในบัญชี โจทก์จะนำไปหักออกจากจำนวนหนี้หรือลดหนี้ของจำเลยที่ 1 ลง ซึ่งปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.20 แสดงให้เห็นว่าธนาคารโจทก์ได้มีการคิดตัดทอนบัญชีหักกลบลบหนี้กันอยู่ตลอดเวลาตามประเพณีของธนาคาร และทางธนาคารได้แจ้งยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันให้จำเลยที่ 1 ทราบทุกเดือน หากยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่แจ้งมาผิดพลาดอย่างใด จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านได้ ซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 2ได้ยอมรับว่าทางธนาคารได้แจ้งยอดตามบัญชีกระแสรายวันให้จำเลยที่ 1ทราบทุกเดือนจริง และไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้ตามที่ธนาคารแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวนี้ถือได้ว่าโจทก์จำเลยที่ 1มีการหักทอนบัญชีกันแล้ว หาจำต้องให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมตรวจสอบคิดบัญชีกันอีกไม่ ทั้งไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856ที่จำเลยทั้งสองอ้างแต่อย่างใด”
พิพากษายืน