คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามโฉนดและจดทะเบียนจำนองเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งสันนิษฐานว่าแท้จริงและถูกต้อง เมื่อมิได้นำสืบหักล้างก็ฟังตามนั้นได้

ย่อยาว

ผู้ร้องจดทะเบียนขายที่ดินแก่จำเลย จำเลยจำนองแก่โจทก์ ศาลพิพากษาบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องที่อ้างว่า ผู้ร้องขายที่ดินบางส่วน จำเลยจะแบ่งแยกออกจากโฉนดภายหลัง ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏในเอกสารซึ่งโจทก์อ้างมาเป็นพยานคือ เอกสารหมาย จ.1 ว่า ผู้ร้องกับนางพุ่ม สว่างเนตร ได้ทำสัญญาขายที่ดินโฉนดที่ 4621 ตำบล (แขวง) หนองบอน (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอ (เขต) พระโขนง (จังหวัด) กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เป็นการขายทั้งแปลง และได้จดทะเบียนประเภทขายลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนในวันเดียวกัน และเอกสารหมาย จ.4 ว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2516 จำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินแปลงนี้ไว้กับบริษัทโจทก์ ซึ่งเป็นการจำนองทั้งแปลงเช่นกัน ได้จดทะเบียนลงชื่อบริษัทโจทก์เป็นผู้รับจำนองในวันเดียวกัน เอกสารหมาย จ.1 เป็นภาพถ่ายเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่าได้ถ่ายจากต้นฉบับ เอกสารหมาย จ.5 และโฉนดเป็นเอกสารซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้ร้องซึ่งถูกอ้างมายันมิได้นำสืบหักล้างจึงต้องฟังว่า จำเลยกับนางพุ่มจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยทั้งแปลง และจำเลยได้นำมาจำนองไว้กับบริษัทโจทก์ทั้งแปลง ตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว ปรากฏในคำเบิกความของผู้ร้องว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่ามีข้อตกลงว่าจะจำนองที่ดินกับบริษัทโจทก์เพียง 25 ไร่ แต่ให้จำนองทั้งแปลงก่อนแล้วแบ่งแยกทีหลัง เป็นการตกลงระหว่างผู้ร้องกับจำเลยบริษัทโจทก์ไม่เกี่ยวข้องด้วย เห็นได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวถ้าหากมีอยู่จริงผู้ร้องก็ยกขึ้นยันบริษัทโจทก์ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิประการใดในที่ดินแปลงนี้เลย จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์”

พิพากษายืน

Share