แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การส่งหมายเรียกพยานบุคคล 5 คนซึ่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษให้มาเป็นพยานตามคำร้องของผู้คัดค้านต้องใช้เวลานานเกินสมควรไม่ทันกำหนดนัดสืบพยานผู้คัดค้านและผู้ร้องซึ่งศาลชั้นต้น (ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง) ได้กำหนดนัดล่วงหน้าไว้แน่นอนแล้วโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงไม่อนุญาต อย่างไรก็ตามศาลชั้นต้นก็มิได้ปฏิเสธคำร้องขอของผู้คัดค้านเสียทั้งหมด โดยยังคงเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านส่งบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งอยู่ต่างประเทศหรืออาจขอสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ข้อ 31 และข้อ 32 หรือนำพยานบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยานเองก็ได้ แต่ผู้คัดค้านก็หาได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ พฤติการณ์ส่อแสดงว่าผู้คัดค้านประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเช่นนี้ชอบแล้ว
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ร. อนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้แล้วตามเอกสารท้ายคำคัดค้าน โดยมิได้อ้างเหตุว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศคือ เงินดอลล่าร์สหรัฐและเงินปอนด์สเตอร์ลิงเท่านั้น โดยขอให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษานั้น นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 196 วรรคสองแล้ว ยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอบังคับของผู้ร้องโดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำร้องขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากประเทศอังกฤษ โดยขอให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องเป็นราคาสินค้าและดอกเบี้ยจำนวน 1,111,492.57 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษจำนวน 4,900 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด (ชี้ขาดวันที่ 1 กรกฎาคม 2541) จนถึงวันที่ผู้คัดค้านจะชำระเสร็จสิ้นแก่ผู้ร้อง ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายชั้นศาลพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน จำนวน 30,000 ปอนด์สเตอร์ลิงและค่าอากรแสตมป์คำชี้ขาดตามประมวลรัษฎากรเป็นเงิน 45,499.46 บาทโดยขอให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ศาลปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ผู้คัดค้านดำเนินกระบวนพิจารณา ณ ประเทศอังกฤษจนถึงที่สุด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศจากประเทศอังกฤษ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องเป็นค่าราคาสินค้าและดอกเบี้ยจำนวน 1,111,492.57 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายของอนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษจำนวน 4,900 ปอนด์สเตอร์ลิง ค่าใช้จ่ายของผู้ร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการและศาลพาณิชย์ในประเทศอังกฤษเพื่อการตั้งอนุญาโตตุลาการจำนวน 3,000 ปอนด์สเตอร์ลิง ดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด (ชี้ขาดวันที่ 1 กรกฎาคม 2541) จนถึงวันที่ผู้คัดค้านจะชำระเสร็จสิ้นแก่ผู้ร้อง สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่มีคำพิพากษานี้ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก่อนวันที่มีคำพิพากษา คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อเหล็กแท่งจากประเทศอินเดียกับผู้ร้อง โดยมีข้อตกลงว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญา ให้เสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน เป็นผู้ชี้ขาด ต่อมาผู้ร้องได้ส่งมอบสินค้าตามสัญญาให้แก่ผู้คัดค้าน 2 เที่ยว เที่ยวแรกผู้คัดค้านได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว คงค้างชำระเฉพาะเที่ยวที่สอง เนื่องจากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้เสนอข้อพิพาทต่อนายโรเบิร์ตไกสฟอร์ด (Robert Gaisford) อนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษ โดยผู้คัดค้านให้ความยินยอมด้วย ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวผู้คัดค้านมีนายอุดม ปรีเปรมวัฒนา เป็นทนายความจากประเทศไทยและมีล่ามจากสถาบันที่อนุญาโตตุลาการยอมรับ ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านได้นำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนจนเสร็จสิ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งหรือคัดค้านว่าการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเทศอังกฤษไม่ชอบแต่อย่างใด และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 นายโรเบิร์ต ไกสฟอร์ด ได้มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าสินค้าและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 1,111,492.57 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 4,900 ปอนด์สเตอร์ลิงและค่าใช้จ่ายในศาลพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน จำนวน 30,000 ปอนด์สเตอร์ลิงแก่ผู้ร้อง แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านว่าในระหว่างพิจารณาคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคล 5 คน ซึ่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษให้มาเป็นพยานในคดีนี้ หากมาไม่ได้ให้ส่งบันทึกข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานดังกล่าวโดยให้โนตารีปับลิกและสถานกงสุลไทยรับรอง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาต ทำให้ผู้คัดค้านเสียหายนั้น ปรากฏจากคำแถลงและคำร้องตลอดจนอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านว่า การส่งหมายเรียกพยานบุคคลซึ่งอยู่ต่างประเทศนั้นต้องดำเนินการหลายขั้นตอน นับแต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจัดส่งหมายเรียกไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดส่งหมายเรียกไปยังพยานเหล่านั้น เฉพาะขั้นตอนที่กระทรวงการต่างประเทศจัดส่งหมายเรียกให้พยานบุคคลในต่างประเทศเพียงขั้นตอนเดียวก็ต้องใช้เวลา 7 ถึง 8 เดือน เห็นว่า การส่งหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวใช้เวลานานเกินสมควร ไม่ทันกำหนดนัดสืบพยานผู้คัดค้านและผู้ร้องซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กำหนดนัดล่วงหน้าไว้แน่นอนแล้ว โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์2542 อย่างไรก็ตาม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มิได้ปฏิเสธคำร้องขอของผู้คัดค้านเสียทั้งหมด โดยยังคงเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านส่งบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งอยู่ต่างประเทศ หรืออาจขอสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 31 ข้อ 32 หรือนำพยานบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยานเองก็ได้ แต่ผู้คัดค้านก็หาได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่พฤติการณ์ส่อแสดงว่าผู้คัดค้านประวิงคดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเช่นนี้ชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประการต่อมามีว่า อนุญาโตตุลาการมีอำนาจชี้ขาดหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์เพียงว่านายโรเบิร์ตไกสฟอร์ด ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้แล้วตามเอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 1 และ 2 โดยมิได้อ้างเหตุว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์มาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีทนายความอังกฤษของผู้คัดค้านก็ดี ไม่อนุญาตให้นายอุดม ปรีเปรมวัฒนา ทนายความของผู้คัดค้านเป็นล่าม แต่จัดให้ทนายความอังกฤษเป็นล่ามโดยมิได้สาบานก่อนทำหน้าที่ก็ดี วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นไปตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ นั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏว่าคู่กรณีได้ตกลงกันเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างอีกทั้งการที่อนุญาโตตุลาการไม่ให้นายอุดมเป็นล่าม เพราะเห็นว่านายอุดมเป็นทนายความจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านไม่เคยได้รับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ เพิ่งจะทราบคำขอบังคับเมื่ออนุญาโตตุลาการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการไปให้ก่อนจึงจะจัดส่งคำชี้ขาดมาให้ผู้คัดค้าน เป็นการขัดต่อมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 นั้น ในข้อนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านอ้างเพียงว่า ผู้คัดค้านยังไม่ได้รับคำชี้ขาดเท่านั้น อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย และที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ครบถ้วนที่จะใช้บังคับกับผู้คัดค้านได้เนื่องจากมิได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมิได้ซื้อสินค้าเหล็กจากผู้ร้อง หากแต่นายสิริ วัฒนาภาซึ่งเป็นคนละคนกับผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อนั้น ปรากฏจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเอกสารหมาย จ.26 พร้อมคำแปล ข้อ 43 อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าผู้คัดค้านเป็นคู่สัญญาของสัญญาซื้อขายไม่ใช่นายสิริ วัฒนาภา ซึ่งรวมทั้งบรรดาข้อตกลงต่อมาในภายหลังที่เกี่ยวกับสินค้าซึ่งทำกับผู้ร้องที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ด้วยเงินตราต่างประเทศคือ เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินปอนด์สเตอร์ลิงเท่านั้น โดยขอให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสองซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษากำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่มีคำพิพากษานั้น นอกจากจะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง แล้ว ยังเป็นการพิพากษาเกินคำขอบังคับของผู้ร้องโดยกำหนดการคิดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำร้องขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนที่ต้องชำระเงินแก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น ไม่บังคับให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่มีคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนนั้นก่อนวันที่มีคำพิพากษานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง