คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับมอบอำนาจจาก จ. เจ้าของที่ดินให้เสนอขายที่ดินแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และได้มีการยื่นซองประกวดราคาแล้ว ต่อมาจำเลยได้ขอให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการขายที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยตกลงจ่ายเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่ง และได้มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้ ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดินดังกล่าว ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวหาใช่ข้อตกลงในทางธุรกิจตามปกติธรรมดาไม่ แต่เป็นการมอบให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการเสนอขายที่ดินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอันเป็นองค์กรแห่งรัฐ ประเภทรัฐวิสาหกิจซึ่งในการจัดซื้อที่ดินนั้นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฯ และข้อบังคับที่ออกสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยโจทก์รู้จักเป็นส่วนตัวกับ ศ. ประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการการบริหารและยุติธรรมของวุฒิสภาด้วยกันกับโจทก์ และยังได้ตั้งโจทก์เป็นเลขานุการของ ศ. ในฐานะประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ดังนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ ศ. จึงผูกพันลึกซึ้งยิ่งกว่าการรู้จักกันโดยปกติธรรมดาทั่วไปการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรอยู่ในฐานะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจด้วยกัน ได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการเสนอขายที่ดินดังกล่าวให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงมีความหมายยิ่งกว่าการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเชิงธุรกิจและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างเอกชนกับรัฐกล่าวคือ ทำให้โจทก์ใช้ความสนิทสนมและสถานะทางการงานที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารสูงสุดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเอื้อประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยคำนึงถึงค่าจ้างที่ได้รับจากจำเลยเป็นส่วนตัว การช่วยเหลือดังกล่าวอาจทำให้เอกชนรายอื่นที่ต้องเสนอราคาแข่งขันกับจำเลยตกเป็นผู้เสียเปรียบจำเลยเนื่องจากมิได้จ้างโจทก์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยคอยประสานงานและช่วยเหลือให้เกิดความเป็นธรรมดังเช่นการเสนอราคาของจำเลย ทั้งยังกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐที่อาจต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากการซื้อที่ดินในราคาที่ขาดการแข่งขันตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพที่ดินนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ร่วมกันเอาเปรียบต่อองค์กรของรัฐส่อไปในทางแทรกแซงการบริหารราชการในองค์กรของรัฐ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายอรัญ ศรีสลวย เป็นผู้ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยได้ทำหนังสือมอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อประสานงานในการเสนอขายที่ดินที่จำเลยเป็นผู้รวบรวมจากผู้อื่นรวม 4 โฉนดให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์คลังพัสดุ โดยจำเลยตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวน5,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ทำการโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยได้ทำบันทึกมอบให้แก่โจทก์อีก1 ฉบับ เสนอค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่โจทก์จากเดิม 5,000,000 บาทเป็น 8,000,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้ติดต่อประสานงานจนสามารถขายที่ดินทั้ง 4 แปลง ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ และได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายกันเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 แต่จำเลยมิได้จัดการชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ให้แก่โจทก์โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามจำเลยจึงได้ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท แต่ยังคงค้างชำระอีกจำนวน 3,000,000 บาท โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย อันเป็นการผิดนัดสัญญาขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ รวมเป็นเงินจำนวน 3,131,250 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 3,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจจากนางจิรดา เลิศสิน เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 36115ถึง 36118 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ให้เสนอขายที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์คลังพัสดุและได้มีการยื่นซองประกวดราคาแล้วต่อมาจำเลยได้ขอให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการขายที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยตกลงจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท ในวันที่ทำการโอนขายที่ดินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.2หลังจากนั้นจำเลยได้บันทึกข้อความที่ด้านหลังนามบัตรของตนว่าจะให้ค่าใช้จ่ายแก่โจทก์เพิ่มจากเดิม 5,000,000 บาท เป็นเงินจำนวน8,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ในที่สุดองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้เสนอขาย จำเลยจึงจ่ายเงินจำนวน 5,000,000 บาท ให้แก่โจทก์โดยไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์อีก 3,000,000 บาท ตามที่บันทึกไว้ด้านหลังนามบัตรเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หรือไม่ เห็นว่าข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นั้นหากกรณีเป็นการมอบให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานติดต่อหรืออำนวยความสะดวกในทางธุรกิจระหว่างเอกชนด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยพิเคราะห์ถึงหลักความสุจริตและหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รวมตลอดถึงหลักทั่วไปของการตีความสัญญาดังข้ออ้างของโจทก์ แต่กรณีนี้หาใช่การทำข้อตกลงในทางธุรกิจตามปกติธรรมดาไม่ เพราะเป็นการมอบให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการเสนอขายที่ดินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยอันเป็นองค์กรแห่งรัฐ ประเภทรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อใช้ที่ดินดังกล่าวก่อสร้างอาคารศูนย์คลังพัสดุ ซึ่งในการจัดซื้อที่ดินนั้นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องปฏิบัติไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497และข้อบังคับที่ออกสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยประกาศแสดงความประสงค์จะซื้อที่ดินด้วยวิธีประกวดราคา ผู้ใดต้องการเสนอขายที่ดินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จะต้องเสนอราคาเข้าแข่งขันกันต่อคณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคา จากนั้นจะมีคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาและคณะกรรมการตรวจรับเป็นผู้ดำเนินการตามลำดับดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7และ ล.8 นอกจากนี้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาทางองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้สงวนสิทธิ์ที่จะไม่ซื้อที่ดินจากผู้เสนอราคาต่ำสุดแต่จะนำองค์ประกอบอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วยตามประกาศองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ข้อ 4 ในเอกสารหมาย ล.7 ด้วยเหตุนี้การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรอยู่ในฐานะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีโอกาสเหนือกว่าเอกชนรายอื่นในการเสนอขายที่ดินให้แก่รัฐวิสาหกิจด้วยกัน ได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการเสนอขายที่ดินดังกล่าวให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงมีความหมายยิ่งกว่าการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเชิงธุรกิจดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในขณะนั้นว่า โจทก์รู้จักเป็นส่วนตัวกับพลเอกศิรินทร์ประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เพราะพลเอกศิรินทร์เป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการการบริหารและยุติธรรมของวุฒิสภาด้วยกันกับโจทก์ ยิ่งกว่านั้นพลเอกศิรินทร์ยังเบิกความเป็นพยานโจทก์ยอมรับว่าพยานได้เลือกโจทก์เป็นที่ปรึกษาของพยานเพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย อันเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นเลขานุการของประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สายสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงผูกพันลึกซึ้งยิ่งกว่าการรู้จักกันโดยปกติธรรมดาทั่วไป ด้วยเหตุนี้การที่จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ประสานงานในการเสนอขายที่ดินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างเอกชนกับรัฐกล่าวคือ ทำให้โจทก์ใช้ความสนิทสนมและสถานะทางการงานที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารสูงสุดขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเอื้อประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยคำนึงถึงค่าจ้างที่ได้รับจากจำเลยเป็นส่วนตัวซึ่งปรากฏจากคำเบิกความของพลเอกศิรินทร์พยานโจทก์ที่ว่าโจทก์นัดให้จำเลยได้พบกับพลเอกศิรินทร์ที่ห้องอาหารของโรงแรมดุสิตธานีนอกจากนี้เมื่อพลเอกศิรินทร์ทราบว่าจำเลยไม่จ่ายเงินให้โจทก์อีก3,000,000 บาท ก็ได้เรียกโจทก์และจำเลยไปพบผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเพื่อให้ไกล่เกลี่ยและตกลงในเรื่องนี้ แม้โจทก์มีจิตใจบริสุทธิ์และต้องการช่วยเหลือจำเลยให้ได้รับความเป็นธรรมดังที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวอาจทำให้เอกชนรายอื่นที่ต้องเสนอราคาแข่งขันกับจำเลย ตกเป็นผู้เสียเปรียบจำเลยเนื่องจากมิได้จ้างโจทก์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยคอยประสานงานและช่วยเหลือให้เกิดความเป็นธรรมดังเช่นการเสนอราคาของจำเลยทั้งยังกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐที่อาจต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจากการซื้อที่ดินในราคาที่ขาดการแข่งขันตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพที่ดินนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ร่วมกันเอาเปรียบต่อองค์กรของรัฐส่อไปในทางแทรกแซงการบริหารราชการในองค์กรของรัฐ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share