คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5782/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยในงวดที่สองตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้ว ก็ยังมีการร่วมประชุมเจรจาระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อหาทางปฏิบัติตามสัญญากันต่อไปพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมิได้ถือเอาเงื่อนเวลาแห่งการชำระเงินค่าดอกเบี้ยงวดที่สองเป็นสาระสำคัญ ย่อมเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาโดยปริยายแล้ว หากจำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นหรือต้องรอให้ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยบอกเลิกสัญญาก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์ยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1366, 1368, 1369, 1372, 1373, 7287, 78947 และ 80160ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์โดยปลอดภาระติดพันใด ๆ ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรค่าใช้จ่ายและค่าภาษีทั้งหมดในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยรับเงินค่าที่ดิน 294,675,000 บาท จากโจทก์ และให้จำเลยเพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินจากผู้รับจำนอง หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายวันละ 1,289,041.10 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 87,309,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าของที่ดินที่จำเลยอาจขายให้บุคคลภายนอกได้เป็นดอกเบี้ยวันละ 175,973บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 จนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่พิพาทคืนจำเลย คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,966,164 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1366, 1368, 1369, 1372, 1373, 7287, 78947 และ80160 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์โดยปลอดภาระติดพันใด ๆ ภายในกำหนด 30 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งหมด ให้โจทก์ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระรวมเป็นเงิน 305,695,037.67 บาท แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมและภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนในราคาซื้อขายจำนวน 171,317,000 บาท ค่าธรรมเนียมและภาษีอากรดังกล่าวในราคาซื้อขายที่เกินกว่านี้ให้โจทก์และจำเลยชำระคนละครึ่ง ให้โจทก์ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยแก่จำเลยตามจำนวนที่จำเลยต้องชำระ โดยเมื่อรวมกับที่โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมและภาษีอากรการจดทะเบียนโอนในราคาซื้อขายที่เกินกว่า 171,317,000 บาท แล้วต้องไม่เกิน11,500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3กำหนดชำระเงินส่วนที่เหลือ 294,675,000 บาท ไว้ในข้อ 2 และในข้อ 2.2 กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 22,040,075.34 บาท โดยแบ่งเป็น 2 งวด สำหรับงวดแรกโจทก์ผิดนัด แต่ได้นำเงินมาชำระให้ในภายหลัง ซึ่งจำเลยก็รับไว้ และยังตกลงให้เลื่อนการชำระเงินงวดที่สองจากวันที่ 9 กันยายน 2538 ไปเป็นวันที่ 24 กันยายน 2538ซึ่งเมื่อถึงกำหนดวันนัดจำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ แต่จำเลยยังมิได้บอกเลิกสัญญา นายอภิชาต อาชาเดช กรรมการของจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายความโจทก์ว่าในช่วงระยะเวลาจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่สองจนถึงวันที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10โจทก์และจำเลยอยู่ระหว่างเจรจาตกลงกัน พยานอยู่ด้วยในการเจรจาทุกครั้ง โจทก์พยายามหาแหล่งเงินกู้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้าจำกัด ต่อมาจำเลยคาดว่าโจทก์ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ แม้จะได้เบิกความตอบคำถามติงทนายความจำเลยว่าเหตุที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.10 นั้นเป็นเพราะเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.9 ให้แก่จำเลยนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงิน แต่ที่ตอบทนายความโจทก์ไปว่า ที่เลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.10 เนื่องจากทราบว่าโจทก์ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้นั้น เพราะทราบว่าบริษัทซิทก้า จำกัด ได้จัดเงินกู้ให้แก่โจทก์แล้วแต่โจทก์ปฏิเสธ โดยพยานไม่ทราบว่าโจทก์ไม่สามารถตกลงกับบริษัทซิทก้า จำกัด ได้เพราะเหตุใด พยานเคยไปร่วมประชุมกับโจทก์ที่บริษัทซิทก้า จำกัด แต่ในขณะนั้นสัญญายังไม่เลิก ดังนี้ตามคำเบิกความของนายอภิชาตแสดงว่าหลังจากโจทก์ผิดนัดชำระเงินค่างวดที่สองแล้วก็ยังมีการร่วมประชุมเจรจาระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อหาทางปฏิบัติตามสัญญากันต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมิได้ถือเอาเงื่อนเวลาแห่งการชำระเงินค่าดอกเบี้ยงวดที่สองเป็นสาระสำคัญย่อมเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยายแล้ว หากจำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้น หรือต้องรอให้ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยบอกเลิกสัญญาก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์ยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญา ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share