คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลงบันไดกุฏิเดินไปราว 9-10 วา แล้วพูดว่า “ถ้าไม่เห็นแก่ผ้าเหลืองหรือไม่ใช่พระ จะเตะให้ตกกุฏิให้หมดเลย” จำเลยกล่าวถ้อยคำเหล่านี้แก่พระภิกษุซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน แม้จะไม่ได้กล่าวต่อหน้า แต่พระภิกษุซึ่งถูกกล่าวนั้นได้ยินถ้อยคำที่จำเลยกล่าวก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจกล่าวใส่ความพระภิกษุศรีจันทร์ว่า “พระไม่มีมารยาท ไม่มีศีล พระไม่มีมารยาทเช่นนี้ต้องเป็นศัตรูกัน”อันอาจทำให้พระภิกษุศรีจันทร์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและได้กล่าวดูหมิ่นพระภิกษุศรีจันทร์ซึ่งหน้าว่า “ถ้าไม่ใช่พระและไม่เห็นแก่ผ้าเหลือง จะเตะเสียให้ตกกุฎิ” ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อหาฐานหมิ่นประมาท จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า พระภิกษุศรีจันทร์ไม่มีมารยาท เสียมารยาท ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ส่วนข้อหาฐานดูหมิ่นเห็นว่า พระภิกษุศรีจันทร์พระภิกษุบุญธรรม และจำเลยต่างอยู่ในอารมณ์โกรธ และได้พูดโต้ตอบกันหลายคำ จำเลยจึงได้กล่าวว่า “นี่เกรงว่าเป็นพระ ถ้าไม่ใช่พระจะเตะให้ตกกุฎิให้หมด” เป็นถ้อยคำกล่าวในขณะทะเลาะด่าว่ากันจึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า น่าเชื่อว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำแต่เพียงว่า”พระไม่มีมารยาท พระเสียมารยาท” จำเลยไม่ได้พูดว่า “พระไม่มีศีล”จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ส่วนข้อหาว่าดูหมิ่นเชื่อว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “นี่เกรงว่าเป็นพระ ถ้าไม่ใช่พระจะเตะให้ตกกุฎิให้หมด” จริง จำเลยกล่าวถ้อยคำนี้แก่พระภิกษุซึ่งประชาชนทั่วไปถือว่าเป็นบุคคลที่ควรเคารพ เป็นการดูหมิ่นตามมาตรา 393 พิพากษากลับลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากถ้อยคำพระภิกษุศรีจันทร์ผู้เสียหายแล้วโจทก์ยังมีพระภิกษุบุญธรรม พระภิกษุทองเตือน และพระภิกษุสำเภาเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อจำเลยลงบันไดกุฎิไปราว 9-10 วา จำเลยพูดว่า “ถ้าไม่เห็นแก่ผ้าเหลืองหรือไม่ใช่พระจะเตะให้ตกกุฎิให้หมดเลย” เป็นการสอดคล้องต้องกันกับคำเบิกความของพระภิกษุศรีจันทร์ รับฟังเป็นความจริงได้ ฯลฯ จำเลยกล่าวถ้อยคำเหล่านี้แก่พระภิกษุซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน แม้จะไม่ได้กล่าวต่อหน้า แต่พระภิกษุศรีจันทร์และพระภิกษุพยานโจทก์ก็ได้ยินถ้อยคำที่จำเลยกล่าว ย่อมเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ฯลฯ ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share