คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1763/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น มิใช่ความผิดต่อเนื่องอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันกระทำผิด (2) ความผิดที่ยอมความกันได้ (ความผิดต่อส่วนตัว) แม้จะอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ก็ดี แต่มาตรา 96 ได้บัญญัติอายุความให้สั้นกว่าอายุความในความผิดสามัญทั่วไป (3) ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1351 ไม่ได้หมายความว่าขุดที่ดินของเขาให้เสียหายได้ อนึ่ง แม้กฎหมายจะให้อำนาจไว้ตามมาตรา 1351 นี้ก็ดี แต่อำนาจนี้จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อบอกกล่าวล่วงหน้าตามสมควร (4) การไม่ได้บอกกล่าวและเข้าไปขุดดิน ตอกเสา ฯลฯในที่ดินของผู้อื่นโดยพลการ เป็นการกระทำโดยเจตนาแล้ว แม้จะต้องการแต่ประโยชน์ไม่คำนึงว่าใครจะเสียหาย ถ้าการนั้นเป็นการรบกวนการครอบครอง ก็ผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 362 ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84, 358, 362

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกมี ผู้กระทำผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปปรับเข้าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อายุความ5 ปี ไม่ขาดอายุความ ส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ข้อ ก. ไม่ขาดอายุความ ส่วนตามข้อ ข. ฟ้องเกิน 3 เดือน คดีขาดอายุความส่วนข้ออื่นไม่ขาดอายุความ

เรื่องนี้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1351 แต่ได้ทำไปเท่าที่จำเป็นในการก่อสร้างเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนารบกวนการครอบครองของโจทก์ ไม่มีเจตนาทำให้ทรัพย์เสีย ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามนัยฎีกาที่ 1846/2500

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยดังต่อไปนี้

(1) ที่ว่าฟ้องของโจทก์ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นมิใช่ความผิดต่อเนื่องเพราะการกระทำให้ทรัพย์เสียหาย ทำลาย เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์นั้นได้กระทำลงแล้ว เป็นแต่ผลของการกระทำยังคงมีต่อมาหาใช่ว่ายังคงกระทำอยู่เรื่อย ๆ ไม่ ฉะนั้น การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันกระทำผิด ส่วนอายุความในความผิดอันยอมความกันได้หรือที่เรียกว่าความผิดต่อส่วนตัวตามกฎหมายลักษณะอาญาเดิมนั้น แม้จะต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 95 อันเป็นอายุความทั่วไปแต่กฎหมายบัญญัติอายุความประเภทความผิดอันยอมความกันได้นี้ให้สั้นกว่าอายุความของความผิดอาญาสามัญอีกชั้นหนึ่ง โดยให้นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด บังคับให้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน ถ้ามิได้ร้องทุกข์เป็นอันขาดอายุความ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2502 มิได้ร้องทุกข์ไว้ เพิ่งมาฟ้องเมื่อมิถุนายน 2503 เกิน 3 เดือนแล้ว จึงขาดอายุความ

(2) ส่วนที่ว่าการกระทำของจำเลยมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1351 หรือไม่นั้น

เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเข้าไปขุดที่ดินของโจทก์ โดยให้คนงานขุดหลุม ตอกเข็มเสารั้ว (กำแพง) ขุดหลุมตอกเสาปั้นจั่นผูกลวดสลิง ปักเสาไม้ไผ่ทำนั่งร้าน การขุดดินของโจทก์ตอกเสาเป็นกำแพงนั้น ได้ขุดดินของโจทก์เป็นร่องกว้างถึง 30 เซนติเมตรยาวตลอด และตอกเสาเข็มในที่ดินของโจทก์ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ใช้ที่ดินติดต่อเพียงที่จำเป็นในการปลูกสร้างนั้น(ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1351)” มิได้หมายความถึงขุดที่ดินของเขาให้เสียหายหรือตอกเสาเข็มลงในที่ดินของเขาได้ ทั้งจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จึงอาศัยบทมาตรา 1351 นี้มาแก้ตัวมิได้

ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1846/2500 ที่ศาลชั้นต้นอ้างนั้นเป็นเรื่องจำเลยตัดกิ่งนุ่นที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย ซึ่งโจทก์ปล่อยให้รุกล้ำ เป็นการละเมิดสิทธิเหนือที่ดินของจำเลยจำเลยมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 จึงไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาจะกระทำผิดอาญาแต่ในเรื่องนี้โจทก์มิได้กระทำผิดอันใดซึ่งจะทำให้จำเลยมีอำนาจป้องกันดังเรื่องตัดกิ่งนุ่นนั้น เป็นแต่กฎหมายให้อำนาจเจ้าของที่ดินติดต่อเพื่อความจำเป็นในการปลูกสร้าง ซ่อมแซม และกำหนดไว้ว่าอำนาจเช่นนี้จะมีขึ้นต่อเมื่อได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสมควร เมื่อจำเลยไม่ได้บอกกล่าวก็ยังไม่มีอำนาจที่จะทำได้

การกระทำดังกล่าวของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเข้าไปขุดดิน ตอกเสา ทำนั่งร้านในที่ดินของโจทก์โดยพลการ เป็นการกระทำโดยเจตนาแล้ว แม้จำเลยต้องการแต่ประโยชน์ไม่คำนึงว่าใครจะเสียหายเดือนร้อนอย่างใด ถ้าการนั้นเป็นการรบกวนการครอบครอง ก็ต้องผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอีก

ส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงซึ่งศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ให้ลงโทษกระทงเดียว ปรับ 2,000 บาท ฯลฯ

Share