คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3944/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามและ ร.ผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ที่ 1 และเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยสาร รถยนต์ ของจำเลยที่ 1 ไปเกิดเหตุพลิกคว่ำลงข้างทางทำให้ทรัพย์สิน ของโจทก์ที่ 1 คือ นาฬิกาข้อมือ รองเท้า สร้อยคอทองคำ พร้อมพระเลี่ยมทอง แว่นตาและทรัพย์สินของ ร. คือ รองเท้า นาฬิกาข้อมือ สร้อยทองคำสูญหายไป การที่ทรัพย์สิน ของโจทก์ที่ 1 และ ร. สูญหายไปขณะเกิดเหตุ ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของคนขับรถของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าทรัพย์สินดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางรัชดา สุขเกษม ผู้ตาย เกิดบุตรด้วยกัน 2 คน คือโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบการดำเนินรถโดยสารสาธารณะ ส่วนจำเลยที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมจัดการเดินรถโดยสารขนส่งทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันเดินรถโดยสารสาธารณะเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ด้วยกัน ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองได้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขรถ ป.1-63-5 หมายเลขทะเบียน 10-2449 กรุงเทพมหานครในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองบรรทุกคนโดยสารจากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดภูเก็ตได้ขับรถด้วยความประมาทแฉลบพลิกคว่ำลงคูข้างทางด้านขวาเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และนางรัชดา ซึ่งโดยสารมาด้วยได้รับอันตรายสาหัส นางรัชดาถึงแก่ความตายระหว่างทาง นำ ส่งโรงพยาบาลโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย คือค่าบรรทุกศพผู้ตายจากจังหวัดระนองไปอำเภอตะกั่วทุ่ง ค่าหีบบรรจุศพ ค่าเลี้ยงแขกในงาน ค่าทำบุญเลี้ยงพระ และอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา 7 คืน 8 วันรวมเป็นเงิน 52,981 บาท ทรัพย์สินของผู้ตายสูญหายไปรวมเป็นเงิน7,650 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 อายุ 11 ปี ขอเรียกเดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ คิดเป็นเงิน 216,000 บาท โจทก์ที่ 3 อายุ 10 ปีขอเรียกเดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเป็นเงิน240,000 บาท รวมค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 456,000 บาท โจทก์ที่ 1ได้รับอันตรายสาหัส ท่อนแขนใกล้ไหล่ขวาหัก ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลทีโรงพยาบาลวชิระจังหวัดภูเก็ตเป็นเงิน 1,430 บาท ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพังงา 610 บาท และรักษาโดยวิธีกายภาพบำบัดวันละ50 บาท ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ขอคิดเพียง 8 เดือน เป็นเงิน12,000 บาท รวมค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 14,040 บาท และทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 สูญหายไป รวมเป็นเงิน 10,995 บาท ค่าจ้างรถขนย้ายโจทก์ที่ 1 จากโรงพยาบาลระนองไปโรงพยาบาลพังงา3,000 บาท และจากโรงพยาบาลพังงาไปโรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต2,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,000 บาท ระหว่างรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1ไม่สามารถทำงานอาชีพส่วนตัวขาดรายได้วันละ 200 บาท คิดเพียง8 เดือน เป็นเงิน 48,000 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะขอคิดค่าสินไหมทดแทนเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน150,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกัน และแทนกัน ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 288,666 บาท แก่ โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 216,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 240,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นางรัชดาผู้ตายและโจทก์ที่ 1จะนำทรัพย์สินติดตัวไป ระหว่างการเดินทางหรือไม่ ไม่รับรองเพราะมิได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหากต้องรับผิดก็ไม่เกิน 500 บาท
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การเดินทางออกต่างจังหวัดของผู้ตายไม่น่าเชื่อว่าจะนำทรัพย์สินส่วนตัวไปมากมายถึงเพียงนั้น และรายการทรัพย์สินที่โจทก์อ้างนั้น โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นเองทั้งสิ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 55,990 บาท แก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 50,400 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 57,600 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 120,480 บาทแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 86,400 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน96,000 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสามและนางรัชดา สุขเกษม ผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาของโจทก์ที่ 1 และเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้โดยสารรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 10-2449 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1ซึ่งนำมาร่วมเดินรถรับส่งคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดภูเก็ต รถยนต์คันดังกล่าวได้พลิกคว่ำที่หลักกิโลเมตรที่ 25-26 ถนนหลังสวน-ราชกรูด ตำบลพะโต๊ะกิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นเห็นให้ผู้ตายและผู้โดยสารอื่นอีก 2 คน ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 และบุคคลอื่นอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อแรกว่าเหตุรถยนต์พลิกคว่ำเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ โจทก์ที่ 1เบิกความว่า ก่อนถึงที่เกิดเหตุ รถยนต์แล่นด้วยความเร็วประมาณ90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เลยจากนั้นไปเป็นทางโค้งลาดต่ำข้างทางด้านซ้ายเป็นเหวลึก ด้านขวาเป็นภูเขาและมีป้ายจำกัดความเร็วให้ขับรถด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล่นเข้าทางโค้งคนขับรถไม่ได้ชะลอความเร็วลดลงเป็นเหตุให้รถเสียการทรงตัวและแฉลบไปทางขวามือชนกับภูเขา แล้วรถได้พลิกตะแคงไปทางขวามือ ส่วนนายสนอง กลิ่นผลพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุรถยนต์โดยสารแล่นด้วยความเร็ว 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อถึงที่เกิดเหตุความเร็วของรถลดลงเหลือ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นว่า ตามภาพถ่ายหมาย ป.ล.3 ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดเหตุถนนเป็นทางโค้งหักศอกไปทางขวามือ และได้ความจากร้อยตำรวจเอกชุมพล บุญเติมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพะโต๊ะพยานโจทก์ ซึ่งไปดูที่เกิดเหตุภายหลังเกิดเหตุประมาณ 20 นาที ด้วยว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางลาดต่ำและคดโค้งประมาณ 60-70 องศา จากสภาพลักษณะของถนนดังกล่าวผู้ขับรถจะต้องขับด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ขับด้วยความเร็วและยิ่งขับในเวลากลางคืนด้วยแล้วจะต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้นดังนั้นการที่รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็ว50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แสดงว่าคนขับรถไม่ได้ชะลอความเร็วให้ลดลงตามสภาพของถนน ส่วนน้ำมันโซล่า บนพื้นถนนที่ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ป.ล.3 นั้น มีเนื้อที่น้อยเพียงล้อรถด้านซ้ายเท่านั้นทีผ่านน้ำมัน และไม่มีรอยเลื่อนไถล แต่อย่างใด จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่รถเกิดเหตุพลิกคว่ำเพราะน้ำมันโซล่า บนพื้นถนนดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในทางโค้ง เป็นเหตุให้รถเสียหลักแล่นออกนอกทางแล้วพลิกตะแคง เหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดค่าทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ซึ่งสูญหายไป คือ นาฬิกาข้อมือยี่ห้อมิโด้ราคา 3,300 บาท รองเท้า 1 คู่ ราคา 490 บาทสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ราคา 5,000 บาท แว่นตา 1 อัน ราคา 2,200 บาท รวม 10,990 บาทและทรัพย์สินของผู้ตาย คือ รองเท้าราคา 200 บาท นาฬิการาคา2,500 บาท สร้อยทองคำ ราคา 2,250 บาท รวมเป็นเงิน 4,950 บาทเพราะมีแต่โจทก์ที่ 1 เบิกความมาลอย ๆ ไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนและหากทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 และผู้ตายถูกบุคคลอื่นถือโอกาสลักเอาไป จำเลยที่ 1 หาต้องรับผิดไม่นั้น เห็นว่าโจทก์ที่ 1รับราชการครูมีตำแหน่งเป็นครูใหญ่ ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเครื่องใช้ส่วนตัวตามฐานะซึ่งโจทก์ที่ 1 พึงมีได้ จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้างแต่อย่างใด ฟังได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์ที่ 1หายไปจริงส่วนทรัพย์สินของผู้ตายดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่ามิได้สูญหายไป การที่ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1และผู้ตายสูญหายไปขณะเกิดเหตุรถพลิกคว่ำ ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของคนขับรถของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทรัพย์สินสูญหายสำหรับโจทก์ที่ 1เป็นเงิน 10,990 บาท สำหรับของผู้ตายเป็นเงิน 4,950 บาทเหมาะสมแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ทั้งสามในชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share