คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าช่วงเช่าห้องพิพาทจากผู้เช่าเดิมโดยมีสัญญาเช่าต่อกันต่อมาผู้เช่าเดิมโอนสิทธิการเช่าตามสัญญานั้นให้แก่โจทก์ โดยเจ้าของห้องพิพาทยินยอมด้วย ดังนี้ โจทก์ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นผู้ให้เช่าแทนผู้เช่าเดิม ส่วนผู้เช่าช่วงก็ยังคงผูกพันเป็นผู้เช่าและมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่านั้นให้แก่โจทก์ เมื่อผู้เช่าช่วงไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่านั้นฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องพิพาทได้ โดยไม่จำต้องเรียกเจ้าของห้องพิพาทเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วย

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า นางอำนวยเจ้าของที่ดินได้ให้นายจง แซ่ฉั่น ปลูกตึกแถวสองชั้น 1 หลังในที่ดิน หมายเลขทะเบียน 75/2, 3, 4, 5, 6, 7 เมื่อปลูกแล้วอาคารนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนางอำนวยและนางอำนวยให้นายจง แซ่ฉั่น เช่าอาคารนี้มีกำหนด 15 ปี นายจงได้ใช้ชั้นบนของอาคารนี้และชั้นล่างด้านหลังทำเป็นโรงแรมใช้ชื่อว่าโรงแรมแสนสำราญ เฉพาะโรงแรมแสนสำราญหมายเลขทะเบียนที่ 75/2 และ 7 ส่วนห้องชั้นล่างด้านหน้าของโรงแรมนี้อีก 4 ห้อง ซึ่งมีเลขทะเบียน 75/3, 4, 5, 6 นายจงให้นายเซ่งและจำเลยเช่าช่วงทำการค้า คือ นายเซ่งเช่าห้องหมายเลขที่ 75/4, 5, 6 รวม 3 ห้องซึ่งเป็นห้องพิพาทในคดีนี้ นายจงดำเนินกิจการโรงแรมอยู่ได้ 3 ปีเศษ ก็โอนสิทธิการเช่าทั้งหมดให้โจทก์ โดยโจทก์ให้เงินนายจง 410,000 บาท ตามสัญญาซื้อและโอนกรรมสิทธิ์กิจการโรงแรมระหว่างโจทก์กับนายจง ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2502 (เอกสาร จ.1) ตามข้อ 6 แห่งสัญญานี้มีข้อความว่า ห้องเช่าเลขที่ 75/3, 4, 5, 6 ซึ่งนายจงให้นายเซ่ง แซ่ตั้ง และจำเลยเช่าอยู่ก่อนวันทำสัญญาโจทก์ยินยอมให้เช่าต่อไปตามสัญญาซึ่งนายจงทำไว้กับจำเลยและนายเซ่ง นางอำนวยเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารยินยอมให้โจทก์และนายจงโอนสิทธิการเช่าได้ และนางอำนวยได้ให้โจทก์ทำสัญญาเช่าอาคารหลังนี้มีกำหนด 11 ปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2502 (เอกสาร จ.2, จ.3) หลังจากโจทก์ได้รับโอนสิทธิการเช่าจากนายจงแล้วโจทก์ได้เข้าดำเนินกิจการโรงแรมแสนสำราญต่อมา และได้เรียกเก็บค่าเช่าจากจำเลยและนายเซ่งตามสัญญาเช่าที่จำเลยกับนายเซ่งทำไว้กับนายจง นายเซ่งยอมชำระค่าเช่าให้โจทก์ ส่วนจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าให้โจทก์เลย โจทก์จึงบอกกล่าวเลิกการเช่ากับจำเลย ขอให้จำเลยออกจากห้องพิพาท ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวถึงจำเลย 2 ครั้งจำเลยไม่ยอมออกโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ขับไล่จำเลยออกจากห้องพิพาท

ปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยออกจากห้องพิพาทหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากนายจงตามสัญญาหมาย ล.1 ก็ดี แต่ต่อมานายจงผู้ให้เช่าเดิมได้โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ตามสัญญา โอนสิทธิหมาย จ.1 และโจทก์ยอมให้จำเลยเช่าห้องพิพาทต่อไปตามสัญญาเช่าล.1 ที่จำเลยทำไว้กับนายจง โจทก์จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาเช่า ล.1 โดยโจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นผู้ให้เช่าแทนนายจงส่วนจำเลยก็ยังคงผูกพันเป็นผู้เช่าและมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าให้โจทก์ตามสัญญาเช่า ล.1 ข้อ 3 เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกการเช่ากับจำเลยได้ตามสัญญาเช่าข้อ 13 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยขอให้จำเลยออกจากห้องพิพาทถึง 2 ครั้ง จำเลยไม่ยอมออก โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยฐานผิดสัญญาเช่าหมาย ล.1 ที่จำเลยทำไว้กับนายจง ฯลฯ แม้โจทก์จะไม่เรียกนางอำนวยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลย

พิพากษายืน

Share