คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1226/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถดับเพลิงของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของบุคคลอื่นไปชนรถยนต์ของโจทก์เสียหายนั้น หากปรากฏว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ ได้นำมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 และขับไปในทางการที่จ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลข ภ.ก.0605 ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย 2,284 บาท และเสียเวลาซ่อม 15 วัน ขาดรายได้ไปรวม 450 บาท และต้องเสียค่าใช้จ่ายนำรถไปซ่อมที่จังหวัดภูเก็ตอีก 300 บาท ขอให้จำเลยร่วมกันรับผิด

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถดับเพลิงของจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์คันหมายเลข ภ.ก.0605 และรถยนต์ดังกล่าวก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 เป็นรถที่สมาชิกเทศบาลเมืองพังงาช่วยกันจัดซื้อมาใช้บรรทุกศพเป็นการกุศลสาธารณะ ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนี้เวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้จำเลยที่ 1 ขับ เป็นแต่นายสุรัติพนักงานเทศบาลขอให้จำเลยที่ 1 เอารถยนต์ ภ.ก.0605 ไปส่งกลับบ้านเป็นการส่วนตัว รถชนกันเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายมากดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ขับรถประมาททำให้โจทก์เสียหายต้องเสียค่าซ่อม 2,284 บาท ค่าขาดรายได้ 5 วัน 150 บาท ค่าใช้จ่ายนำรถไปซ่อมที่จังหวัดภูเก็ต โจทก์ไม่สืบ จึงไม่คิดให้ ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์นำสืบไม่ได้ว่ารถที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นรถของจำเลยที่ 2 จะให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 2,434 บาท แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมด้วย และโจทก์ควรได้ค่าทดแทน 15 วัน เป็นเงิน 450 บาท

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนที่โจทก์ขาดรายได้ 450 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ประเด็นเรื่องจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อยุติ เพราะคู่ความมิได้โต้เถียง คงมีปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานนายจ้างหรือไม่เท่านั้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถยนต์ ภ.ก.0605 นี้ สมาชิกเทศบาลเมืองพังงา จัดรำวงหาเงินมาซื้อรถคันนี้มาเพื่อใช้ในการบรรทุกศพบริการประชาชน ไม่ใช่รถของจำเลยที่ 2 โจทก์จะมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ารถยนต์คันนี้จะเป็นของใครไม่สำคัญ ถึงแม้จะไม่ใช่รถของจำเลยที่ 2 แต่ถ้าได้นำมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 โดยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับไปชนรถของโจทก์เสียหายในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เฉพาะขับรถดับเพลิงของจำเลยที่ 2 เท่านั้น วันเกิดเหตุนายไพศาลเป็นผู้ขับรถภ.ก.0605 ไปประกาศโฆษณาชักชวนราษฎรให้ไปประชุมที่โรงเรียนท้ายช้าง เพื่อฟังคำแนะนำเรื่องรักษาความสะอาดบ้านเรือน นายสตางค์นายยกเทศมนตรี นายเสวกเทศมนตรี นายสุรัติ ไปร่วมการประชุมด้วยเมื่อเสร็จการประชุมแล้ว นายไพศาลได้ขับรถคันนี้ไปส่งนายสตางค์นายเสวกที่บ้าน ส่วนนายสุรัติเอาเครื่องขยายเสียงไปเก็บที่เทศบาลแล้วจึงกลับบ้าน จำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งนายสุรัติโดยพลการซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้ใช้หรือสั่ง แล้วไปชนรถโจทก์เข้าจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถดับเพลิงนั้น มิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 ขับรถคันอื่นไม่ได้ คดีได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขับรถคันนี้เป็นส่วนมากถ้าจำเลยที่ 2 ประสงค์จะไม่ให้จำเลยที่ 1 ขับรถคันนี้ให้ได้ผลจริงจังจำเลยที่ 2 ก็มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลโดยใกล้ชิด มิใช่สั่งไม่ให้ขับแล้วก็ไม่เหลียวแล เมื่อไปเกิดเหตุเข้าก็จะอ้างคำสั่งขึ้นปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่

ส่วนเรื่องจำเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือไม่นั้นก็ได้ความว่านายสตางค์นายยกเทศมนตรีและนายเสวกเทศมนตรีก็ได้ใช้รถคันนี้ไปส่งบ้าน ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งนายสุรัติซึ่งไปทำงานร่วมกับนายสตางค์ จึงเป็นในทางการที่จ้างโดยไม่มีปัญหา ไม่มีทางที่จำเลยที่ 2 จะเถียงว่าอยู่นอกทางการที่จ้าง

พิพากษายืน

Share