คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในคดีก่อนโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่มีการบังคับคดีแต่ยังไม่พอชำระหนี้และจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีกอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ทั้งทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดได้เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 304,500 บาท ซึ่งอาจขายทอดตลาดได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ก็ได้ จึงมีเหตุที่ยังไม่ควรให้ล้มละลาย โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายอีกในเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แม้คดีนี้ โจทก์อ้างว่ามีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากคดีก่อน โดยโจทก์ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เงินเพียง 42,900 บาท และโจทก์ได้รับชำระหนี้เพียง 36,479 บาทส่วนคดีก่อนยังมิได้ขายทอดตลาดก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 24347/2532 โจทก์ขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วได้รับเงินจากการขายทอดตลาดเพียง 36,439 บาท ยอดหนี้ค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 836,786.80 บาท จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเข้าข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยทั้งสามให้การว่า เช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 24347/2532 ของศาลชั้นต้นเป็นเพียงเช็คค้ำประกันของเช็คอีกฉบับหนึ่ง จำนวนเงิน 150,000 บาท จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้โจทก์ไปแล้ว 30,000 บาท คงค้าง 120,000 บาท จำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระแต่โจทก์ไม่ยอมรับ ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวมาฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา สำหรับคดีอาญานั้น ศาลพิพากษายกฟ้องโดยเชื่อว่าเป็นเช็คค้ำประกัน จำเลยที่ 3 หาได้เป็นหนี้โจทก์ไม่เพราะขณะลงชื่อสลักหลังไม่มีเจตนาผูกพันเพียงแต่ลงชื่อไว้เพื่อรับรู้การที่บิดาเป็นหนี้โจทก์ และขณะนั้นจำเลยที่ 3 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์เพียง 120,000 บาท และพร้อมที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงยังไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งให้ชำระเงินตามเช็ค ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 500,000บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสาม แต่ขายทอดตลาดได้เงิน 42,900 บาท โจทก์ได้รับชำระหนี้ 36,497บาท ต่อมาโจทก์นำเช็คที่ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันหนี้ซึ่งค้างชำระอยู่เพียง 120,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์นำมูลหนี้ตามเช็คที่ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งและคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่ามีเหตุที่ยังไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย คดีถึงที่สุดดังปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ล.144/2538เอกสารหมาย ล.5 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.144/2538 ของศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายหรือไม่ โจทก์ฎีกาโต้แย้งสรุปได้ว่า มูลหนี้ตามเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายนั้น เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นจำนวนหนี้ที่แน่นอน เมื่อมีการบังคับคดีและจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะพึงยึดมาชำระหนี้อีกได้ จำเลยทั้งสามย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตราบใดที่จำเลยทั้งสามยังชำระหนี้ไม่ครบถ้วน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ นอกจากนี้จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจึงไม่อาจยกฟ้องในประเด็นดังกล่าวได้ เห็นว่า จริงอยู่แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายในคดีก่อนโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่มีการบังคับคดีแต่ยังไม่พอชำระหนี้และจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีกอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ตาม แต่คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายได้พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยฟังข้อเท็จจริงว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป และจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้เพียง 120,000 บาท เท่านั้น เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำเลยที่ 1 ก็ได้นำเงิน 120,000 บาท ไปชำระให้โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จะให้ชำระตามเช็คค้ำประกัน จำเลยที่ 1 จึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จึงยังรับฟังโดยปราศจากความสงสัยไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ทั้งทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้เป็นเงิน 304,500บาท ซึ่งอาจขายทอดตลาดได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ก็ได้ จึงมีเหตุที่ยังไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย แสดงให้เห็นว่า ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายได้วินิจฉัยยกฟ้องด้วยเหตุสองประการ คือ ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์อยู่จริงและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ที่ว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง” ทั้งนี้ไม่ว่ามูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จะเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่ถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม ศาลที่พิจารณาคดีล้มละลายก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ทั้งสิ้น กล่าวคือ ต้องพิจารณาว่าหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ มีหนี้สินกันอยู่จริงตามจำนวนที่กฎหมายล้มละลายกำหนดไว้หรือไม่ และหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ อีกทั้งลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์เคยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลายจนศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลายอีกในเหตุดังที่เคยอ้างและศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วในคดีก่อน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ประกอบด้วยมาตรา 14 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 แม้คดีนี้โจทก์อ้างว่ามีข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากคดีก่อน โดยโจทก์ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เงินเพียง 42,900 บาท และโจทก์ได้รับชำระหนี้เพียง 36,479 บาท ส่วนคดีก่อนยังมิได้ขายทอดตลาดศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายจึงเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลายก็ตาม แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีเดิมและคดีนี้ก็ยังคงตรงกันในข้อที่ว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ ปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินใดที่จะบังคับคดีได้อีก พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งในที่สุดศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลอันเป็นหลักแห่งคำวินิจฉัยว่าไม่เชื่อว่าโจทก์จำเลยทั้งสามมีหนี้สินกันอยู่จริงหรือไม่และมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลายซึ่งในคดีนี้ ศาลก็ต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเป็นหลักในการพิจารณาให้ได้ความดังที่มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กำหนดไว้เช่นกัน นอกจากนี้การที่ศาลจะพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายหรือไม่ ย่อมมีผลในทางตัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงแตกต่างจากการพิพากษาคดีแพ่งสามัญ เหตุนี้ไม่ว่าคดีล้มละลายเดิมศาลจะยกฟ้องด้วยเหตุที่พิจารณาไม่ได้ความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจหยิบยกเอามูลหนี้เดิมมาเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีล้มละลายอีกได้ เพราะเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายล้มละลายในทางบีบคั้นลูกหนี้ให้ต้องล้มละลายซ้ำแล้วซ้ำอีก อันเป็นการผิดจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”

พิพากษายืน

Share