แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับตรวจสอบ และอนุญาตให้มีการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน รวมทั้งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง กรณีจึงรวมถึงการอนุญาต หรือมีคำสั่งอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เช่นนี้ เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูกิจการและกฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการเจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ทั้งแผนก็มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยชัดแจ้ง บุคคลที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นคำร้องเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวต่อศาลโดยตรงได้
การที่ผู้ทำแผนดำเนินคดีแก่ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินและกรรมการของลูกหนี้โดยกล่าวอ้างกระทำละเมิดต่อลูกหนี้ เป็นเหตุให้ผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผน ถูกบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีข้อหาละเมิด ย่อมถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้ทำแผนคนเดิม เหตุนี้ค่าทนายความและค่าใช้จ่าย อันเกิดจากการต่อสู้คดีของผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผน เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/62 (1) เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ผู้บริหารแผนสามารถนำเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
การที่กฎหมายให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีฐานะเป็นผู้แทนของลูกหนี้ในวันที่จะกระทำการใดๆ แทนลูกหนี้ในช่วงเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้บังคับของมาตรา 90/45 ประกอบกับ มาตรา 90/14 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่ผู้ทำแผนคนเดิมฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินกับพวก โดยอ้างว่า กระทำละเมิดต่อลูกหนี้ นั้น กรณีมิใช่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินได้ หากว่ามีการแพ้คดี ผู้ทำแผนจะกระทำการดังกล่าวได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว การฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว จึงอยู่ในขอบอำนาจ และกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ความสัมพันธ์และความรับผิดระหว่างลูกหนี้กับผู้ทำแผน จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 816
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คอร์เปอเรท รีสตัคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมามีคำสั่งตั้งบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอฟ เอ เอส จำกัด เป็นผู้ทำแผน คนใหม่ และวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอฟ เอ เอส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน หลังจากนั้นได้มีการโอนคดีนี้มาพิจารณาที่ศาลล้มละลายกลาง
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ทำแผนคนใหม่และผู้บริหารแผนยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสามารถชำระค่าใช้จ่ายและค่าวิชาชีพอันเกิดจากการต่อสู้คดีของผู้ทำแผนคนเดิม และผู้ร้อง กับพวกรวม ๘ คน จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะอนุญาตให้นำเงินของลูกหนี้มาชำระหนี้ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ร้องกับพวกรวม ๘ คน ต่อสู้คดีที่มีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการตามแผน เมื่อไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้ในแผน อีกทั้งที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้เสียงข้างมากมีมติไม่ให้นำเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระค่าใช้จ่าย ดังกล่าว กรณีจึงไม่อนุญาตให้นำเงินของลูกหนี้มาชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามคำร้องของผู้ร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หมวด ๓/๑ ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับตรวจสอบและอนุญาตให้มีการกระทำการต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน รวมทั้งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง กรณีจึงรวมถึงการอนุญาตหรือมีคำสั่งอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เช่นนี้เมื่อเกิดปัญหาประการใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูกิจการและกฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ทั้งแผนก็มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยชัดแจ้ง บุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลได้โดยตรง ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจพิจารณาว่าจะอนุญาตให้มี การจ่ายเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเป็นค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ผู้ทำแผนคนเดิม ผู้ทำแผนคนใหม่ และผู้บริหารแผนถูกฟ้องร้องเนื่องมาจากจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ และเพื่อประกอบการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลมีอำนาจให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นประกอบ หรือให้มีการประชุม คณะกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวประกอบการพิจารณาของศาลได้ ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะพิจารณาอนุญาตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น เมื่อการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ทำแผนคนเดิม กับผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ทำแผนคนใหม่และ ผู้บริหารแผนถูกบริษัทพีทีเอ็มแอล จำกัด (เดิมชื่อ บริษัทเคพีเอ็มจี พีท มาร์วิค สุธี จำกัด) ฟ้องข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน ๕,๐๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของ ผู้ทำแผนคนเดิมนั้นเอง เหตุนี้ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการต่อสู้คดีของผู้ทำแผนคนเดิมและผู้ร้องจึงเป็นหนี้ซึ่งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนได้ก่อขึ้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ดังที่ปรากฏในมาตรา ๙๐/๖๒ (๑) เมื่อได้รับอนุญาตจาก ศาลแล้ว ผู้บริหารแผนสามารถนำเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
ส่วนกรณีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทนายความและค่าใช้จ่ายนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๒๕ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของ ลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลม” การที่กฎหมายให้ผู้ทำแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้ทำแผน จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของลูกหนี้ในอันที่จะกระทำการใด ๆ แทนลูกหนี้ในช่วงเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้บังคับของมาตรา ๙๐/๒๕ ประกอบกับมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) กล่าวคือ ผู้ทำแผนมีอำนาจที่จะกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้ การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นตามคำร้องอ้างว่า จากรายงานของผู้สอบทานรายการทางการเงินของลูกหนี้ พบความผิดปกติเกี่ยวกับรายการทางการเงินของลูกหนี้ ภายใต้การตรวจสอบและรับรองของคณะทำงานบริษัทเคพีเอ็มจี พีท มาร์วิค สุธี จำกัด เป็นเหตุให้ ช. กับพวก ร่วมกันกระทำโดยทุจริตหรือไม่สุจริต เบิกถอนเงิน จ่ายเงิน หรือโอนเงินของลูกหนี้ไปเป็นของตนกับพวก เท่าที่ตรวจพบเป็นจำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการลูกหนี้มีความประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ตรวจสอบรายงานการเงินและกรรมการของบริษัทลูกหนี้โดยกล่าวอ้างว่ากระทำละเมิดต่อลูกหนี้นั้น กรณีมิใช่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินได้หากว่ามีการแพ้คดี การที่ผู้ทำแผนจะกระทำการดังกล่าวได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอก่อน คดีปรากฏว่าผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องเพื่อขออนุญาตฟ้องคดีแล้ว โดยศาลแพ่งมีคำสั่งว่า “เป็นอำนาจของผู้ทำแผนซึ่งมีอำนาจจัดการกิจการแทนลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๒๕ ที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการอื่นใด รวมทั้งการฟ้องคดีเพื่อเรียกทรัพย์ดังกล่าวกลับคืน ไม่จำต้องขออนุญาตต่อศาล จึงให้ผู้ทำแผนดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป” แม้ว่าจะเป็นการ ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อผู้ทำแผนได้แจ้งความประสงค์ให้ศาลทราบแล้วและศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่รับคำร้องในขณะนั้นเห็นว่าผู้ทำแผนมีอำนาจกระทำการได้เอง กรณีถือได้ว่าศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ทำแผนฟ้องคดีได้ การที่ผู้ทำแผนคนเดิมดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ ช. กับพวก จึงอยู่ในขอบอำนาจและกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ความสัมพันธ์และความรับผิดระหว่างลูกหนี้กับผู้ทำแผน จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๗๗ ประกอบมาตรา ๘๑๖ ซึ่งในการพิจารณาดังกล่าวศาลจะต้องพิจารณาถึงรายการค่าใช้จ่ายและ ค่าทนายความตามที่ผู้ร้องขอมานั้นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพียงใด การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งโดยยังมิได้ ไต่สวนให้ได้ความจริงในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ชอบ
พิพากษายกคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง โดยกำหนดให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ลูกหนี้ และดำเนินการไต่สวนต่อไป แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลล้มละลายกลางรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่