คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1391/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง เป็นค่าเช่าที่ค้าง 138,000 บาท ค่าซ่อมแซมตึกพิพาท 200,000 บาท และค่าไฟฟ้า 7,708 บาท เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์และโจทก์อุทธรณ์เพียงฝ่ายเดียวขอให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องเดิมและขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดให้โจทก์ชำระเงินตามฟ้องแย้ง ดังนั้น จำนวนเงินที่พิพาทกันในส่วนค่าซ่อมแซมตึกพิพาทจึงเป็นเงิน 200,000 บาทเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โดยไม่กำหนดค่าซ่อมแซมตึกพิพาทให้ตามฟ้องแย้ง จำเลยจะฎีกาให้โจทก์ชำระค่าซ่อมแซมตึกพิพาทให้จำเลย 420,000 บาท เต็มตามฟ้องแย้งอีกหาได้ไม่ ทุนทรัพย์ที่จำเลยฎีกาคงเป็นเงินค่าซ่อมแซม 200,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เท่านั้น จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าซ่อมแซมตึกพิพาท เนื่องจาก โจทก์ย่อมให้หักเงินประกัน 240,000 บาท โจทก์ผิดสัญญาเช่าไม่สงวนตึกพิพาทเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงกระทำและไม่บำรุงรักษารวมทั้งซ่อมแซมเล็กน้อย ทำให้เกิดความเสียหาย โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าซ่อมแซมตึกพิพาทให้แก่จำเลยเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2537 โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกพาณิชย์ขนาด 4 ชั้น จากจำเลย ตกลงค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท กำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์วางเงินล่วงหน้าเป็นประกันการเช่าเป็นเงิน 240,000 บาท ก่อนทำสัญญาเช่าจำเลยทำหลักฐานเป็นหนังสือว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกที่ให้เช่าภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2537 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยและครอบครัวไม่ขนย้ายออกไป โดยอ้างว่าบ้านใหม่ที่สร้างยังไม่เสร็จขออยู่ต่ออีก 6 เดือนและยอมให้หักค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งโจทก์จะชำระค่าเช่าเพียง23,000 บาท ต่อเดือน เมื่อครบ 6 เดือน จำเลยและครอบครัวยังไม่ขนย้ายออกไป โจทก์จึงได้ใช้ประโยชน์ในตึกพิพาทไม่ครบเต็มตามเนื้อที่ดังที่ตกลงในสัญญาและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตกลงเช่าทั้งหลัง โจทก์แจ้งให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาจำเลยเพิกเฉย จนกระทั่งวันที่ 29พฤษภาคม 2539 จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยดึงประตูเหล็กหน้าบ้านล็อกกุญแจไว้ไม่ให้ใช้ประโยชน์ทำการค้าขายตามปกติ โจทก์แจ้งให้จำเลยเปิดกุญแจ จำเลยไม่ยอม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในตึกพิพาทเดือนละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน520,000 บาท และจำเลยต้องคืนเงินประกันการเช่า 240,000 บาทแก่โจทก์และมีทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในตึกดังกล่าวโดยมีอาหารสด เบียร์ เหล้า เก้าอี้โต๊ะ ถ้วยชาม เตาแก๊ส และอุปกรณ์อื่น ๆ ในการทำอาหารเป็นเงิน 184,506บาท จำเลยต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ด้วย รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 944,506บาท โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 945,506 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยและครอบครัวได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกพิพาทยกเว้นเพียงบุตรสองคนของจำเลยเท่านั้น จำเลยตกลงการเช่ากับโจทก์ใหม่ โดยขอให้บุตรสองคนของจำเลยพักอาศัยในชั้นที่สองของตึกพิพาท จำเลยตกลงลดค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท คงเหลือค่าเช่าเดือนละ 23,000 บาท โจทก์ตกลงด้วยและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในตึกพิพาทโดยประกอบกิจการค้าขายอาหารตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน2537 เป็นต้นมา และได้ชำระค่าเช่าตลอดมาในอัตราเดือนละ 23,000บาท โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2538 จำเลยไม่เคยกระทำการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ดูแลตึกพิพาทปล่อยปละละเลยทำให้ตึกพิพาททรุดโทรมไม่ซ่อมแซม จำเลยตกลงกับโจทก์เข้าทำการซ่อมแซมตึกพิพาทเอง โดยโจทก์ยอมเสียค่าใช้จ่าย โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองตึกพิพาทตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2539 เพื่อซ่อมแซมตึกพิพาทเป็นเวลา 2 เดือน จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิด และเนื่องจากตึกพิพาทมีทรัพย์สินของโจทก์อยู่บ้าง จำเลยจึงปิดประตูพิพาทเพื่อป้องกัน มิให้ทรัพย์สินของโจทก์สูญหายหรือเสียหาย เมื่อจำเลยซ่อมแซมตึกพิพาทเสร็จแล้ว จำเลยมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รับมอบตึกพิพาทในวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 เพื่อทำการเช่นกันต่อไป แต่โจทก์ไม่ยอมรับมอบการครอบครองตึกพิพาทค่าเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้ไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกัน 240,000 บาท เนื่องจากโจทก์ติดค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2538 ถึงเดือนพฤษภาคม 2539 คิดเป็นค่าเช่าที่โจทก์ค้าง 138,000 บาท โจทก์ผิดสัญญาเช่าข้อ 9 โดยให้บุคคลอื่นเช่าช่วงตึกพิพาท ทั้งโจทก์ติดค้างค่าซ่อมแซมตึกพิพาท 420,000 บาท และโจทก์ติดค้างค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า 9,476.85 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลย 567,476.85 บาท เมื่อหักเงินประกัน 240,000 บาท โจทก์ยังคงต้องชำระ 327,476.85 บาท ทรัพย์สินของโจทก์ที่อยู่ในตึกพิพาทมีราคาอย่างมากไม่เกิน 40,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับตามฟ้องแย้งโดยให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 327,476.85บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมขนย้ายครอบครัวออกจากตึกพิพาทคงใช้ประโยชน์ในตึกพิพาทนั้น แต่จำเลยยอมหักค่าเช่าให้แก่โจทก์เพียง 2,000 บาท ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่ครอบครัวจำเลยใช้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,500 บาท จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ดึงประตูเหล็กปิดล็อก โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย โจทก์ไม่เคยติดค้างค่าเช่า การซ่อมแซมตึกพิพาทจำเลยทำเอง โดยโจทก์ไม่รับรู้และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยเองทั้งไม่มีข้อสัญญาเช่าข้อใดให้โจทก์จะต้องรับผิดในการซ่อมแซมจำนวนมากเช่นนี้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 105,708บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 94,292 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยคืนทรัพย์สินและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในการทำอาหารของโจทก์แก่โจทก์ หากจำเลยไม่คืนหรือคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 80,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้จำเลยฎีกาทั้งในประเด็นส่วนฟ้องเดิมของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยรวมกันมา ศาลฎีกาจึงแยกวินิจฉัยดังนี้ สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในส่วนฟ้องเดิมของโจทก์มีว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ในกรณีที่จำเลยไม่คืนทรัพย์สินหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในการทำอาหาร 80,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยผู้ให้เช่าเป็นผู้มีหน้าที่ซ่อมแซมตึกพิพาทเอง โจทก์ผู้เช่ามีหน้าที่เพียงซ่อมแซมเล็กน้อยเป็นการไม่ชอบโจทก์ต้องชำระค่าซ่อมแซมตึกพิพาท 420,000 บาท ให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้งนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง โดยกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าที่ค้าง 138,000 บาท ค่าซ่อมแซมตึกพิพาท 200,000 บาท และค่าไฟฟ้า 7,708 บาท รวมเป็นเงิน 345,708 บาท ซึ่งเมื่อหักเงินประกัน240,000 บาทแล้ว โจทก์ต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 105,708 บาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว และโจทก์อุทธรณ์เพียงฝ่ายเดียวขอให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องเดิมและขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดให้โจทก์ชำระเงินดังกล่าวตามฟ้องแย้งของจำเลยดังนั้น จำนวนเงินที่พิพาทกันในส่วนค่าซ่อมแซมตึกพิพาทจึงเป็นเงิน 200,000บาทเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โดยไม่กำหนดค่าซ่อมแซมตึกพิพาทให้ตามฟ้องแย้ง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงให้โจทก์ชำระค่าซ่อมแซมตึกพิพาทให้จำเลย 420,000 บาท เต็มตามฟ้องแย้งอีกหาได้ไม่ ทุนทรัพย์ที่จำเลยฎีกาได้คงเป็นเงินค่าซ่อมแซม 200,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เท่านั้น ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยเข้าซ่อมแซมตึกพิพาทเนื่องจากโจทก์ยอมให้หักเงินประกัน 240,000 บาท โจทก์ผิดสัญญาเช่าไม่สงวนตึกพิพาทเสมอกับที่วิญญูชนจึงพึงกระทำและไม่บำรุงรักษารวมทั้งซ่อมแซมเล็กน้อย ทำให้ความเสียหาย โจทก์จึงต้องรับผิดชำระค่าซ่อมแซมตึกพิพาทให้แก่จำเลยนั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share