คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7991/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 บัญญัติขึ้นใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น มิอาจใช้แก่กรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและมีคำสั่งว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่เมื่อได้ความว่าผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาที่แน่นอน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องงดส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดเนื่องจากเชื่อตามคำแถลงของผู้ร้องซึ่งไม่เป็นความจริงโดยมิได้ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 21(2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุยกคดีขึ้นพิจารณาอีกนั้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด หรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1312 ตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าว การที่ผู้ร้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินได้ออกไปเสียจากภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบที่อยู่แน่นอน ซึ่งเป็นความเท็จเพราะผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาแน่นอน เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่ออนุญาตให้ไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องขอให้ผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่กระทำลงภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวด้วย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง จึงไม่มีเหตุยกคดีขึ้นพิจารณาตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านว่าที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องงดส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ทายาทผู้มีชื่อในโฉนดโดยมิได้ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(2) เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ ได้ความว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้มีชื่อในโฉนดหรือทายาท ผู้ร้องยื่นคำแถลงว่านายคำ ติเยา (ที่ถูกนายทองคำ ติเยาว์) ทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดหายสาบสูญ ไม่ทราบที่อยู่แน่นอน ส่วนผู้มีชื่อในโฉนดถึงแก่กรรมแล้วของดส่งสำเนาคำร้องขอให้ผู้มีชื่อในโฉนดหรือทายาทศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนั้น ผู้ร้องจึงมิได้ส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดคือผู้คัดค้าน คงมีแต่ประกาศคำร้องขอทางหนังสือพิมพ์สายกลางและปิดประกาศคำร้องขอไว้ ณ บริเวณที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ร้านค้าในหมู่บ้านอันเป็นที่ชุมชนใกล้เคียงที่ทรัพย์ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโป่งและหน้าศาลชั้นต้นเท่านั้น เห็นว่า หากได้ความว่าผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาแน่นอนการส่งคำคู่ความด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นย่อมไม่ชอบ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านไม่ทราบว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์เนื่องจากผู้คัดค้านมิได้อ่านหนังสือพิมพ์สายกลางและผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด จึงแสดงชัดแจ้งว่าทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดหรือผู้คัดค้านมิได้สาบสูญไปดังที่ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องงดส่งสำเนาคำร้องขอให้ทายาทของผู้มีชื่อในโฉนด หรือผู้คัดค้านก็เนื่องจากศาลชั้นต้นเชื่อตามคำแถลงของผู้ร้องว่าทายาทของผู้มีชื่อในโฉนดสาบสูญไปนานแล้วนั่นเอง ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ที่ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดแล้วจึงไม่มีเหตุยกคดีขึ้นพิจารณาอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นว่ากล่าวได้ไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น…” ย่อมเห็นได้ว่าบัญญัติขึ้นใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น มิอาจใช้แก่กรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว อนึ่ง ในกรณีเช่นที่กล่าวมาข้างต้นนี้เมื่อความปรากฏชัดแจ้งต่อศาลและศาลเห็นสมควร ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้คัดค้านนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องงดส่งสำเนาคำร้องขอแก่ทายาทผู้มีชื่อในโฉนดตามคำแถลงฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2532และเพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นส่งคำคู่ความใหม่แล้วไต่สวนและมีคำสั่งต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share