คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะบัญญัติรับรองสิทธิพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการกล่าวคือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การของจำเลยไว้ และได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง เพื่อให้โอกาสจำเลยบรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ แต่จำเลยกลับผัดผ่อนตลอดมา จนในที่สุดจำเลยได้ยื่นคำให้การขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้อง โดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสองดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้คำให้การ จึงต้องถือว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ เมื่อข้อหาตามฟ้อง ไม่ใช่คดีที่มีข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ซึ่งต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 60,000 บาท รวม 3 กระทงเป็นเงิน 180,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” ดังนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ และให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะบัญญัติรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการกล่าวคือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์รวมทั้งให้สิทธิแก่จำเลยที่จะให้การต่อศาลหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ในกรณีที่จำเลยให้การต่อศาลแล้วหากประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การนั้น จำเลยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 163 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์” ซึ่งหมายความว่า หากจำเลยประสงค์จะขอแก้คำให้การจำเลยต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลและแสดงเหตุอันสมควรมาในคำร้องขอด้วยว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การเพราะเหตุใด ทั้งนี้ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องขอว่าเป็นเหตุผลอันสมควรหรือไม่ สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง และศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้ปรากฏตามคำให้การจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2541 โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษาและได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้ง เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 บรรเทาผลร้ายแห่งความผิดที่กระทำโดยชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 กลับผัดผ่อนตลอดมา จนในที่สุดจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำให้การลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 ขอให้การใหม่เป็นการปฏิเสธฟ้องของโจทก์ทั้งสอง โดยมิได้ยื่นคำร้องขอแก้คำให้การ และมิได้แสดงให้ปรากฏว่ามีเหตุสมควรแก้คำให้การอย่างไร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้คำให้การจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป ทั้งที่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและให้การใหม่เป็นปฏิเสธความผิดเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้คำให้การ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งสอง เมื่อข้อหาในความผิดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสอง กฎหมายกำหนดอัตราโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ไม่ใช่คดีที่มีข้อหาในความผิด กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งกฎหมายบังคับให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป จึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน เป็นการกำหนดโทษที่หนักเกินไปและขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 นั้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสจำเลยที่ 2 ชดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 ร้องขอ โดยเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหลายครั้งเป็นเวลาถึงหนึ่งปีเศษ แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเลยดังนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมีภาระในการเลี้ยงดูบิดามารดาและบุตรก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 2 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทงเป็นจำคุก 3 ปี และลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษจำคุกที่ลดแล้วแต่ละกระทงเข้าด้วยกันนั้น ไม่ถูกต้องปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″

พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 18 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share