แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาลโจทก์ทั้งสองมีความเห็นต้องกันให้ฟ้องขับไล่ผู้อาศัยคือจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องจำเลย ในระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 ขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์โดยอ้างว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปและแถลงถึงสาเหตุที่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยว่า เป็นเพราะจำเลยเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนี้เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยชอบตั้งแต่ต้น และที่โจทก์ที่ 2ขอถอนตัวออกจากการเป็นโจทก์ก็ไม่ใช่เพราะมีความเห็นแตกต่างกับโจทก์ที่ 1 ในการจัดการมรดก และไม่ได้คัดค้านการดำเนินคดีต่อไปของโจทก์ที่ 1 จึงเท่ากับโจทก์ที่ 2ยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปโดยปริยายโจทก์ที่ 1 ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีขอให้ขับไล่จำเลยต่อไปตามสิทธิและหน้าที่ผู้จัดการมรดกได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลมัย บุญยะรัตน์ตามคำสั่งของศาล ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่พิพาทและบ้านเลขที่ 12 (เดิมเลขที่ 584/8)ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งส่งมอบบ้านและที่ดินดังกล่าวในสภาพที่เรียบร้อยแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2537 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 139,000 บาท และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบบ้านและที่พิพาทคืนแก่โจทก์ และขอให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของนางลมัยทั้งหมด
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นโจทก์ อ้างว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ถอนตัวได้ตามขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 584/8 หรือบ้านเลขที่ 12ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร พร้อมกับส่งมอบบ้านและที่ดินคืนให้แก่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 25กรกฎาคม 2537 จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทคืนแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1และนางลมัยมีบุตรด้วยกัน 6 คน โดยมีจำเลยซึ่งเป็นบุตรคนโตและโจทก์ที่ 2 รวมอยู่ด้วย นางลมัยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3023 ตำบลบางขุนนนท์ (บางบำหรุ)อำเภอบางพลัด (บางกอกน้อย) จังหวัดธนบุรี (กรุงเทพมหานคร)เนื้อที่ประมาณ 114 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 584/8(ต่อมาเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 12) ถนนจรัญสนิทวงศ์แขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโดยมีนางลมัยและจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านดังกล่าว ต่อมานางลมัยถึงแก่กรรม ก่อนถึงแก่กรรมนางลมัยทำพินัยกรรมยกที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรทั้ง 6 คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์ที่ 2 และจำเลยรวมอยู่ด้วยโดยมีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านดังกล่าวยังไม่ตกแก่ทายาทจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะถึงแก่กรรม และในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จก็ให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เก็บรักษาผลประโยชน์ ตลอดจนมีอำนาจจัดการดูแลแทนจำเลย โดยให้นำรายได้กึ่งหนึ่งให้โจทก์ที่ 1 ส่วนที่เหลือให้ฝากธนาคารไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการซ่อมแซมบ้าน และเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆที่เกี่ยวกับบ้านเช่านั้น และที่ดินดังกล่าวหากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สภาพที่ดินดีขึ้นและตั้งโจทก์ที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมโจทก์ที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งโจทก์ที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ที่ 2 ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางลมัยร่วมกัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะปรับปรุงที่ดินดังกล่าวเป็นสถานที่รับฝากรถยนต์เพื่อหารายได้มาแบ่งปันแก่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกัน จึงบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยินยอมโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 3.1 ในปัญหาข้อกฎหมายเป็นประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยโดยลำพังหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางลมัยร่วมกันจะต้องจัดการมรดกร่วมกันเมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้จัดการมรดกร่วมอีกคนหนึ่งขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปโดยลำพังนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล โจทก์ที่ 1 ผู้เดียวโดยลำพังฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์มรดกโดยโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 สำหรับคดีนี้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกโจทก์ทั้งสองมีความเห็นต้องกันให้ฟ้องขับไล่ผู้อาศัยคือจำเลยโจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อำนาจฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้กระทำโดยชอบตั้งแต่ต้น แต่ในระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 ขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ โดยอ้างว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปและจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ถอนตัวได้ตามคำขอ แต่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ว่า โจทก์ที่ 2 แถลงถึงสาเหตุที่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปว่าเพราะจำเลยเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จึงยื่นคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่เพราะมีความเห็นแตกต่างกับโจทก์ที่ 1 ในการจัดการมรดก และไม่ได้คัดค้านการดำเนินคดีต่อไปของโจทก์ที่ 1 เท่ากับโจทก์ที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปโดยปริยายโจทก์ที่ 1 ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีขอให้ขับไล่จำเลยต่อไปตามสิทธิและหน้าที่ผู้จัดการมรดกได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน