คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1289/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง บุกเบิก แผ้วถางที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมมีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดระยะเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินแปลงนี้ ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อพ้นกำหนดหลังจากวันที่เจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยออกไปจากที่ดินความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานจึงต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานเข้ายึดถือครอบครองหาใช่เป็นกรรมเดียวกันไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2498 จำเลยทั้งสองได้สมคบร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง บุกเบิก แผ้วถาง ทำนา และทำไร่ในบริเวณที่ดินห้วยหินสูง อันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ดังปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องสีแดง โดยจำเลยบังอาจยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2507 นายคำบุ เหมลาปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอได้มีคำสั่งให้จำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าวภายใน 30 วัน จำเลยได้ขัดคำสั่งและไม่ปฏิบัติตาม ยังคงร่วมกันยึดถือครอบครอง เรื่องขัดคำสั่งนั้นพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 และสั่งห้ามไม่ให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย วินิจฉัยว่าข้อหาฐานยึดถือครองครองที่พิพาทคือข้อหาในคดีนี้เป็นความผิดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองมาจนบัดนี้ ระหว่างที่จำเลยกระทำผิดในข้อหาดังกล่าว เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาท แต่จำเลยขัดขืนไม่ยอมออกจึงเกิดเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งอีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพียงครั้งเดียวหรือกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37, 38 สิทธิที่โจทก์จะนำข้อหาฐานยึดถือครอบครองที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องนั้น ความผิดฐานเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทโดยมิได้รับอนุญาตได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ขณะที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองเมื่อเดือนมีนาคม 2498 และยังบรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ยึดถือครอบครองที่พิพาทตลอดมา การกระทำผิดของจำเลยจึงดำเนินเรื่อยมาตลอดระยะเวลานั้น ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน หลังจากวันที่เจ้าพนักงานสั่ง จะถือว่าเป็นกรรมเดียวกันหาได้ไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปตามที่เห็นสมควรแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเดียวกันทั้งต่อเนื่องกัน จึงถือว่าเป็นกรรมเดียวกัน

ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าหากฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้ว ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานเข้ายึดถือครอบครองบริเวณที่ดินห้วยหินสูงอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองตั้งแต่เดือนมีนาคม 2498 และความผิดของจำเลยดังกล่าวยังคงมีอยู่ตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังครอบครองที่ดินแปลงนี้ ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อพ้นกำหนด 30 วันหลังจากวันที่นายคำบุปลัดอำเภอสั่งให้จำเลยออกไปจากที่ดินแปลงนี้ความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานจึงต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานเข้ายึดถือครอบครอง หาใช่เป็นกรรมเดียวกันไม่

พิพากษายืน

Share