แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ลูกหนี้ซื้อที่ดินบางส่วนจากบริษัท อ. ในขณะที่ที่ดินจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัท อ. และ/หรือบริษัท ส. มีต่อธนาคาร ม. ซึ่งธนาคารเจ้าหนี้ได้รับโอนกิจการมา เป็นการซื้อขายติดจำนอง สิทธิจำนองเป็นทรัพย์สิทธิย่อมติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์จะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสองลูกหนี้จึงต้องรับภาระจำนองมาด้วย เจ้าหนี้จึงยังมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าว การที่ธนาคาร ม. จดทะเบียนปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัท อ. ในเวลาต่อมา โดยส่วนของลูกหนี้ยังคงติดจำนองอยู่และภาระหนี้ยังคงเป็นของบริษัท ส. ตามเดิม ที่ดินส่วนของลูกหนี้จึงติดจำนองเพื่อประกันหนี้ของบริษัท ส. ที่มีต่อธนาคาร ม. ต่อไปเจ้าหนี้จึงมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินส่วนของลูกหนี้ในวงเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 6
การที่ลูกหนี้ซื้อทรัพย์ซึ่งติดจำนองมา ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ ลูกหนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันจะมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 12 หมวด 5 มิได้ทำให้ลูกหนี้มีฐานะเป็นผู้จำนอง เมื่อประสงค์จะให้จำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ด้วยจะต้องมีการจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยตามมาตรา 714 การที่เจ้าหนี้ที่และลูกหนี้ตกลงให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้ซื้อมาโดยติดจำนองนั้นเป็นการจำนองประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ด้วย แต่มิได้จดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะเจ้าหนี้จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันในส่วนนี้
นอกจากมีบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกันหนี้บางอันดับแล้ว ยังมีบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันร่วมอีกด้วย เช่นนี้หากผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ย่อมมีผลถึงลูกหนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่งการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วางเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระหนี้ในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2542 ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2543ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีบริษัท พี แอล วี แอนด์ แอสโซซิเอทส์จำกัด เป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหนี้ตามสัญญาขอขายตั๋วสัญญาใช้เงิน หนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตในประเทศ สัญญาเงินกู้ หนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญารับมอบสินค้าเชื่อเป็นเงิน 1,227,660,596.68บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามอัตราในตารางแนบท้ายจากต้นเงิน932,089,951.20 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงตามประกาศของเจ้าหนี้และหนี้ตามภาระค้ำประกันที่เจ้าหนี้ต้องรับผิดแทนลูกหนี้ในอนาคตเป็นต้นเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ต้องชำระเงินแทนลูกหนี้ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1226พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29 แล้ว ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามสัญญาขอขายตั๋วสัญญาใช้เงิน ภาระหนังสือค้ำประกัน สัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตในประเทศ สัญญาเงินกู้ หนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญารับมอบสินค้าเชื่อเป็นเงินทั้งสิ้น1,227,660,596.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามตารางแนบท้ายของต้นเงิน 932,099,951.20 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในวงเงินตามหนังสือสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2535 และสำเนาบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2535 ส่วนในมูลหนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกันให้มีเงื่อนไขว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทยแล้วแต่วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท
วันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ผู้รับมอบอำนาจของผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า เจ้าหนี้มิใช่เจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้ที่ขอรับชำระเนื่องจากหนังสือสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 28 มกราคม2535 และบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2535 เป็นประกันการชำระหนี้ของบุคคลภายนอกที่เป็นหนี้เจ้าหนี้เท่านั้น มิใช่เป็นประกันหนี้ของลูกหนี้ที่มีแก่เจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2543 และมีคำสั่งแก้ไขให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ปัจจุบันธนาคารมหานคร จำกัด(มหาชน) ได้ควบรวมกับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงรับมาซึ่งสิทธิและทรัพย์สินทั้งหมดของธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 28 มกราคม2535 บริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองประกันหนี้ที่ผู้จำนองและ/หรือบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด มีต่อเจ้าหนี้ วันที่ 10 พฤษภาคม2537 ลูกหนี้ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนจากบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินระหว่างจำนอง โดยบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ข้อ 3 ระบุว่า กรณีเป็นการขายระหว่างจำนองโดยผู้ซื้อ (ลูกหนี้) รับภาระจำนองแต่ไม่รับภาระหนี้ ในการซื้อขายที่ดินดังกล่าวบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เพื่อขอปลดจำนองแต่อย่างใด เมื่อการซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นการซื้อขายที่ดินระหว่างจำนองโดยมีเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินแปลงพิพาท ทำให้ที่ดินแปลงพิพาทยังคงติดจำนองเจ้าหนี้ ทั้งในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด และของลูกหนี้ เพียงแต่ลูกหนี้ไม่ขอรับผิดในภาระหนี้ของบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้งจำกัด เท่านั้น แต่ลูกหนี้รับว่าที่ดินที่ซื้อมานั้นติดจำนองเจ้าหนี้ ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2539 เจ้าหนี้จดทะเบียนระงับจำนองเฉพาะส่วนของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด ให้หลุดพ้นจากสัญญาจำนอง ในส่วนของลูกหนี้ยังคงติดจำนองอยู่กับเจ้าหนี้จึงเท่ากับว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 1236 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของลูกหนี้ด้วย หลังจากนั้นลูกหนี้ได้มาทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญารับรองความเสียหายในการออกหนังสือค้ำประกันและ/หรือ รับรอง และ/หรืออาวัลตั๋วเงิน และ/หรือเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ สัญญาเงินกู้ เลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญามอบสินค้าเชื่อกับเจ้าหนี้ ในสัญญาทุกฉบับระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้มีการตกลงระบุไว้ในทุกสัญญาว่านำที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันหนี้ เมื่อที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองมาตั้งแต่ต้น และมิได้มีการยกเลิกสัญญาจำนอง หรือมีเหตุทำให้สัญญาจำนองระงับ สิทธิของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่จำนองยังคงมีอยู่จนกว่าจะมีเหตุในการระงับจำนองตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงชี้แจงว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 มีการนำไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด และบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ที่มีต่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน180,000,000 บาท และต่อมามีการเพิ่มวงเงินจำนองเป็น 350,000,000 บาท วันที่ 10 พฤษภาคม 2537 บริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด ได้ตกลงยินยอมให้ลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวรวมด้วยโดยเป็นการรับโอนที่ดินอย่างติดภาระจำนอง ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2539 ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ตกลงปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัดสำหรับส่วนของลูกหนี้ยังคงติดจำนองธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน)อยู่เช่นเดิม ที่ดินแปลงนี้ในส่วนที่ลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์จึงยังมีผลเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้าจำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายนี้จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 6เพราะที่ดินที่จำนองเป็นประกันมิใช่ที่ดินของบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ส่วนมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ แม้ในสัญญาจะระบุว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกัน แต่ก็มิได้มีการจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่ถือว่ามูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระมีที่ดินที่ลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่จำนองเป็นประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 ทั้งการจำนองตามหนังสือสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2535 และบันทึกเพิ่มวงเงินประกันครั้งที่ 1 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2535 ก็ไม่ครอบไปถึงมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอชำระหนี้เนื่องจากการจดทะเบียนจำนองดังกล่าวเป็นการประกันการชำระหนี้ของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้าจำกัด และ บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตตี้ จำกัด เท่านั้น ไม่มีผลเป็นการประกันหนี้ของลูกหนี้แต่อย่างใด
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 บริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตำบลบางวัวอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เพื่อประกันหนี้ของผู้จำนองและ/หรือบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ในวงเงินจำนอง 180,000,000 บาทต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2535 มีการตกลงขึ้นวงเงินจำนองเพิ่มอีก170,000,000 บาท รวมเป็นวงเงินจำนองทั้งสิ้น 350,000,000 บาทวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ลูกหนี้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนจากบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด โดยติดภาระจำนอง วันที่ 9เมษายน 2539 ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด ต่อมาวันที่ 7มีนาคม 4 เมษายน 8 เมษายน 9 เมษายน และ 27 มิถุนายน 2540ลูกหนี้ได้กู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้เงินโดยทำสัญญาขอขายตั๋วสัญญาใช้เงินขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ ทำสัญญากู้เงิน และสัญญารับมอบสินค้าเชื่อโดยในมูลหนี้อันดับที่ 1 หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี มูลหนี้อันดับที่ 4หนี้ตามสัญญาขายตั๋วสัญญาใช้เงิน มูลหนี้อันดับที่ 5 หนี้ตามสัญญากู้เงินมีบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด เป็นผู้ค้ำประกันอยู่ด้วยรายหนึ่งและในสัญญาทั้งหมดมีการระบุว่ามีการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองประกันหนี้ ต่อมาธนาคารมหานคร จำกัด(มหาชน) ได้โอนสินทรัพย์ให้เจ้าหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ เห็นว่า การที่ลูกหนี้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนจากบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้าจำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ในขณะที่ที่ดินแปลงดังกล่าวได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้าจำกัด และ/หรือบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด มีต่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เป็นการซื้อขายที่ดินโดยติดจำนองมาด้วยสิทธิจำนองเป็นทรัพย์สิทธิย่อมติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจำนองจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เช่นนี้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองจึงต้องรับภาระจำนองมาด้วยเจ้าหนี้จึงยังมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าว ในฐานะผู้รับจำนองจนกว่าจะมีเหตุให้จำนองนั้นระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 การที่ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2539 ธนาคารมหานคร จำกัด(มหาชน) จดทะเบียนปลดจำนองเฉพาะส่วนที่ดินของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด ในบันทึกถ้อยคำลงวันที่ 9 เมษายน ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ให้ระงับจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของบริษัทอุตสาหกรรมท่อสตีมเหล็กกล้า จำกัด สำหรับส่วนของลูกหนี้ยังคงติดจำนองอยู่กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาจำนองและบันทึกขึ้นเงินทุกประการ และภาระหนี้ยังคงเป็นของบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ตามเดิม เช่นนี้ที่ดินส่วนของลูกหนี้ย่อมติดจำนองเพื่อประกันหนี้ของบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ที่มีต่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ต่อไป แต่ในการที่ลูกหนี้รับภาระจำนองย่อมรับมาไม่เกินวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย เจ้าหนี้จึงมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินส่วนของลูกหนี้ในวงเงินจำนวนดังกล่าวทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนหนี้ที่บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัดต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ เช่นนี้ เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนองจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 6
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า เจ้าหนี้มีบุริมสิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพียงใด กรณีจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนองที่ติดอยู่กับทรัพย์จำนองและจำนวนหนี้ที่บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ต้องรับผิดในวงเงินจำนองนั้น ตามหนังสือสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2535 และบันทึกขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2535 รวมเป็นเงิน 350,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำนวณวงเงินจำนองและดอกเบี้ยถึงวันที่ 7 กันยายน2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นเงินจำนวน832,678,082.20 บาท ตามรายงานการคำนวณยอดหนี้ของสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ลงวันที่ 3 เมษายน 2543 ส่วนจำนวนหนี้ที่บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด จะต้องรับผิดปรากฏตามสำนวนคำขอรับชำระหนี้ชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งว่าบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ได้เป็นผู้ค้ำประกันมูลหนี้อันดับ 1 หนี้ตามสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2540 มียอดหนี้ค้างชำระ 26,901,774.57 บาท มูลหนี้อันดับที่ 4 หนี้ตามสัญญาขายตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ตามสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2540 มียอดหนี้ค้างชำระ115,000,105.22 บาท มูลหนี้อันดับที่ 5 หนี้ตามสัญญากู้เงินตามสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2540 มียอดหนี้ค้างชำระ160,696,519.19 บาท ตามรายงานการคำนวณยอดหนี้ของสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 รวมยอดหนี้ค้างชำระถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นเงิน 302,598,398.98บาท บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำนวนหนี้ที่ค้างไม่เกินวงเงินจำนอง เจ้าหนี้จึงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์จำนองตามจำนวนหนี้ที่บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด จะต้องรับผิด
ในส่วนหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 2ที่ 3 และที่ 6 ซึ่งในมูลหนี้ดังกล่าวนี้ บริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้งจำกัด มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น เห็นว่า การที่ลูกหนี้ซื้อทรัพย์ซึ่งติดจำนองมานั้นทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้ลูกหนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันจะมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 12 หมวด 5 หาทำให้ลูกหนี้มีฐานะเป็นผู้จำนองแต่อย่างใดเมื่อประสงค์จะให้จำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ด้วยจะต้องมีการจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหนี้ด้วยตามมาตรา 714 เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบว่า ทรัพย์สินที่จำนองนั้นเป็นประกันหนี้ของผู้ใด ในวงเงินเท่าใด การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงให้ทรัพย์สินที่ลูกหนี้ซื้อมาโดยติดจำนองนั้นเป็นการจำนองประกันหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ด้วย และเมื่อมิได้จดทะเบียนจำนอง ข้อตกลงเรื่องจำนองดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เจ้าหนี้จึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันในส่วนนี้
อนึ่งในมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้น ปรากฏว่านอกจากมีบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด เป็นผู้ค้ำประกันหนี้บางอันดับแล้ว ยังมีนายประชา ลีลาประชากุล นายวีระพล ลีลาประชากุล นายวีระชัย ลีลาประชากุล นายวีระพันธ์ ลีลาประชากุลนายวีระเกียรติ ลีลาประชากุล เป็นผู้ค้ำประกันร่วมอีกด้วย เช่นนี้หากผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ย่อมมีผลถึงลูกหนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292วรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้วางเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระหนี้ในส่วนนี้ และศาลล้มละลายกลางก็มิได้แก้ไขให้ถูกต้องกรณีเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จำนวน 1,227,660,596.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราตามตารางแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ ของต้นเงิน932,099,951.20 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จจากลูกหนี้โดยให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้อันดับที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งคำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นเงิน 302,598,399.89 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ทั้งสามอันดับ โดยมีเงื่อนไขว่า ในมูลหนี้ตามภาระค้ำประกันเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยแล้วไม่เกินวงเงิน 10,000 บาท และหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากบริษัทสยามสแตนเลสไพพ์ฟิตติ้ง จำกัด และ/หรือ นายประชาลีลาประชากุล และ/หรือ นายวีระพล ลีลาประชากุล และ/หรือนายวีระชัย ลีลาประชากุล และ/หรือนายวีระพันธ์ ลีลาประชากุลและ/หรือ นายวีระเกียรติ ลีลาประชากุล ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใดให้สิทธิเจ้าหนี้ในการได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ลดลงมาเพียงนั้น