คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องโจทก์ขอให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งทำกันไว้คือให้โจทก์ชำระหนี้ค่าไม้เป็นเงิน 58,000 บาทแก่จำเลย พร้อมกับมารับโอนกรรมสิทธิ์ไม้ตามสัญญา ศาลฎีกาพิพากษาในคดีนั้นว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งโจทก์จำเลยมีสิทธิ (ให้อีกฝ่าย) ปฏิบัติการชำระหนี้ แต่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คือไม่ส่งมอบไม้ทั้งหมดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ภายในเวลาอันควร จนเป็นเหตุให้ไม้เสื่อมคุณภาพใช้ประโยชน์ไม่ได้การชำระหนี้จึงกลายเป็นไร้ประโยชน์แก่โจทก์ โจทก์ได้แสดงเจตนาบอกปัดไม่รับมอบไม้ทั้งหมดจากจำเลย ถือว่าเป็นการได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ได้ทราบแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับโจทก์ให้รับไม้และให้ชำระเงินแก่จำเลยได้ พิพากษายกฟ้องจำเลย โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ว่าจนบัดนี้โจทก์ยังไม่ได้รับไม้จากจำเลยตามสัญญาเพราะไม้ผุเน่าไปหมด จำเลยจึงต้องชำระหนี้ตามสัญญาโดยชำระเป็นเงินค่าไม้แทนคิดเป็นเงิน 203,250 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนี้ เมื่อโจทก์ซึ่งเคยเป็นจำเลยในคดีก่อนได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ เมื่อก่อนทำสัญญาอยู่ในฐานะอย่างไร ก็ให้คู่สัญญากลับไปอยู่ในฐานะอย่างนั้นประดุจว่าไม่เคยมีนิติกรรมเกิดขึ้นในระหว่างคู่กรณีเนื่องจากโจทก์จำเลยได้เลิกสัญญาก่อนที่จะได้มีการชำระหนี้ต่อกันฉะนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะต้องคืนต่อกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระเงินค่าไม้แทนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าไม้ด้วยกัน เดิมโจทก์ออกทุนให้นายประจวบ มงคลสุต ทำไม้ซุง ในเขตป่าอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เมื่อได้ไม้ซุงแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งรู้ว่าไม้ซุงนั้นเป็นของโจทก์มีเจตนาไม่สุจริต ไปตกลงซื้อไม้ซุงนั้นจากนายประจวบที่อำเภอตะพานหิน ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงกัน โดยจำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 รับเป็นผู้นำไม้ซุงที่เหลือจำนวน 348 ท่อน ราคา 203,250 บาท จากจังหวัดพิจิตรมาส่งมอบให้โจทก์ณ บริเวณเชิงสะพานพระราม 6 ภายในเวลาอันควร โดยโจทก์ตกลงจะจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นเงิน 58,000 บาท แต่จำเลยได้นำไม้ดังกล่าวมาถึงเชิงสะพานพระราม 6 ภายหลังจากได้ทำสัญญาดังกล่าวเป็นเวลาประมาณเกือบ 2 เดือน ไม้ซุงทั้งหมดผุ เสียหาย เสื่อมราคาจนหมด แล้วจำเลยกลับฟ้องเรียกเงิน 58,000 บาท ตามสัญญาจากโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้นำไม้รายนี้ส่งมอบให้แก่โจทก์ในเวลาอันควรเป็นเหตุให้ไม้เน่าผุ ฯลฯ โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลย ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7126/2509 ของศาลแพ่ง จนบัดนี้โจทก์ยังไม่ได้รับไม้ซุงจำนวน 348 ท่อน ราคา 203,250 บาทตามสัญญาจากจำเลย เพราะไม้ผุ เน่าไปหมด ไม่มีทางที่จำเลยจะส่งมอบไม้ในสภาพดีให้แก่โจทก์ได้ จำเลยจึงต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว โดยชำระเป็นเงินค่าไม้แทน คิดเป็นเงิน 203,250 บาท เมื่อคิดหักเงินส่วนได้ของจำเลย 57,000 บาทออกแล้ว จำเลยยังมีหน้าที่ต้องชำระเงินให้โจทก์ 145,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี แต่คิดเพียง 5 ปี เป็นดอกเบี้ย54,468.75 บาท จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 199,718 บาท 75 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธความรับผิดและว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7126/2509ของศาลแพ่งซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยให้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งทำกันไว้ คือให้โจทก์ (จำเลยในคดีนั้น) ชำระหนี้ค่าไม้เป็นเงิน 58,000 บาทแก่จำเลย (โจทก์ในคดีนั้น) พร้อมกับมารับโอนกรรมสิทธิ์ไม้ตามสัญญา ในคดีนั้นโจทก์ให้การต่อสู้คดีรวมทั้งปฏิเสธว่าไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระเงินแก่จำเลยเพราะจำเลยผิดสัญญาไม่รีบจัดการชักลากไม้ที่ระบุไว้ในสัญญาล่องมากรุงเทพฯ ตามที่ตกลงเป็นเหตุให้ไม้เสื่อมคุณภาพและราคาตก ไม่สมประโยชน์ของโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาคดีนั้นว่าสัญญาตามเอกสารศาลหมาย จ.3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งโจทก์จำเลยมีสิทธิ (ให้อีกฝ่าย) ปฏิบัติการชำระหนี้ แต่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ คือไม่ส่งมอบไม้ทั้งหมดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ภายในเวลาอันควร จนเป็นเหตุให้ไม้เสื่อมคุณภาพใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่นนี้ การชำระหนี้จึงกลายเป็นไร้ประโยชน์แก่โจทก์ โจทก์ได้แสดงเจตนาบอกปัดไม่รับมอบไม้ทั้งหมดจากจำเลย ถือว่าเป็นการได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ได้ทราบแล้วจำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับโจทก์ให้รับไม้และให้ชำระเงินแก่จำเลยได้ พิพากษายกฟ้องจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ซึ่งเคยเป็นจำเลยในคดีนั้นได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามเอกสารศาลหมาย จ.3 จนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลย และคดีถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 บัญญัติว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ เมื่อก่อนทำสัญญาอยู่ในฐานะอย่างไร ก็ให้คู่สัญญากลับไปอยู่ในฐานะอย่างนั้น ประดุจว่าไม่เคยมีนิติกรรมเกิดขึ้นในระหว่างคู่กรณี เนื่องจากโจทก์จำเลยได้เลิกสัญญาก่อนที่จะได้มีการชำระหนี้ต่อกัน ฉะนั้น จึงไม่มีสิ่งใดที่จะต้องคืนต่อกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระเงินค่าไม้แทนได้ อนึ่งคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share