แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลจะบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินมือเปล่าซึ่งยังมิได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วไม่ได้
ความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 ที่ยอมให้บุคคลที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและผู้รับโอนที่ดินดังกล่าว มีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินได้นั้น คำว่า “ผู้รับโอน”นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับโอนที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการออกโฉนดที่ดินโดยถูกต้องเสียก่อน แล้วผู้รับโอนนั้นจึงจะมีสิทธิมาขอรับโฉนดที่ดิน ฉะนั้น ที่ดินรายพิพาทซึ่งยังมิได้มีการโอนกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังเป็นที่ดินที่ไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงโอนกันมิได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เพียงแต่บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับเรื่องขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อันจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และประมวลกฎหมายที่ดิน(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2509)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากนายอาจและนายปนศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยใช้เงินให้โจทก์ไม่ครบ โจทก์นำเจ้าพนักงานยึดที่นา 1 แปลงของนายปน จำเลยขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ โจทก์นำหลักฐานการซื้อขายไปติดต่อขอโอนต่อจำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจดทะเบียนการซื้อขายที่นาดังกล่าว โอนสิทธิครอบครองให้โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลโดยสุจริต ได้ชื่อว่า เป็นผู้รับโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 และได้ชื่อว่าเป็นผู้รับโอนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 พิพากษาให้จำเลยในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินรายนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่นำคำรับรองจากนายอำเภอว่าที่ดินนี้ได้ทำประโยชน์แล้วไปจดทะเบียน จำเลยจึงไม่มีหน้าที่และไม่มีอำนาจที่จะจดทะเบียนให้พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9 บัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วให้โอนกันได้ จะเห็นได้ว่าที่ดินที่นายอำเภอยังมิได้ให้คำรับรองว่าทำประโยชน์แล้วจะโอนกันทางทะเบียนมิได้ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ที่ดินรายพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าเมื่อโจทก์นำหลักฐานการซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลไปขอจดทะเบียนโอนสิทธิเป็นของโจทก์ต่อจำเลย ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยก็ได้ทำประกาศคำขอรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ตามระเบียบ เพื่อจะได้ทำการโอนให้โจทก์ต่อไปแต่นางแก้วร้องคัดค้านว่า ที่ดินรายพิพาทเป็นของนางแก้ว จำเลยจึงได้นัดโจทก์และนางแก้วไปอำเภอเพื่อทำการเปรียบเทียบ แต่โจทก์ไม่ไป โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อที่ดินรายพิพาทยังมิได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วศาลก็จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนให้ โจทก์ตามฟ้องยังมิได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับรองจากนายอำเภอว่า ที่ดินรายพิพาทได้ทำประโยชน์แล้วเสียก่อน แล้วโจทก์จึงจะมีสิทธิมาขอให้จำเลยทำการโอนให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรายพิพาททางทะเบียนต่อไป เมื่อบัดนี้โจทก์ยังมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับโจทก์จะมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิที่ดินรายพิพาทให้โจทก์โดยฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นหาได้ไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ที่ยอมให้บุคคลที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินและผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวมีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินได้นั้น คำว่า “ผู้รับโอน” นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับโอนที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการออกโฉนดที่ดินโดยถูกต้องเสียก่อนแล้วผู้รับโอนนั้นจึงจะมีสิทธิมาขอรับโฉนดที่ดินตามความในมาตรา 6 ส่วนกฎกระทรวงที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง ก็เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติสำหรับผู้รับโอนที่ดินที่ประสงค์จะได้คำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้วทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานจะได้ทำการโอนกันต่อไปได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497ข้อเท็จจริงในคดีเรื่องนี้ปรากฏว่าที่ดินพิพาทยังมิได้มีการโอนกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังเป็นที่ดินที่ไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงโอนกันมิได้ตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
อนึ่ง เห็นว่าแม้โจทก์จะซื้อที่ดินรายพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตก็ดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ก็เพียงแต่บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับเรื่องขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอันจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และประมวลกฎหมายที่ดินตามที่พิพาทกันในคดีนี้ดังได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ฎีกาโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์