แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ให้จำคุก 5 ปี และเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93กึ่งหนึ่ง รวมเป็นโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่เพิ่มโทษตามมาตรา 93 คงจำคุกเพียง 5 ปี เช่นนี้ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ทั้งบทและโทษ เป็นการแก้ไขมาก จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บัญญัติขึ้นเพื่อให้จำเลยมีทนายต่อสู้ในคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่ได้หมายความรวมถึงโทษที่จำเลยจะพึงได้รับจากการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย ฉะนั้น แม้จำเลยจะให้การรับในข้อเคยต้องโทษก่อนตั้งทนาย คำรับก็ไม่เสียไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน สมคบกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ฮอนด้า 1 คันของนายนี ตะสุวรรณ ไป ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาจำคุกฐานปล้นทรัพย์มีกำหนด 6 ปี ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83, 93
วันชี้สองสถาน จำเลยให้การว่าขอสู้คดี จะให้การวันนัด หาทนายความแล้วไม่ต้องการให้ศาลตั้งให้ ก่อนคดีนี้จำเลยอายุเกิน17 ปีแล้ว เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 6 ปีฐานปล้นทรัพย์ต้องหาในคดีนี้ภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นโทษ
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยให้การตามที่ศาลจดไว้ว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 83 ให้จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง รวมเป็นโทษ 7 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่ข้อที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะจำเลยแถลงรับข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษ จำเลยยังไม่มีทนายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 จำเลยยังไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกสอบถามให้ให้การ ศาลจะเริ่มทำการพิจารณาไม่ได้ ถึงวันนัดสืบพยาน เมื่อจำเลยมีทนายแล้วจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ถือว่าปฏิเสธรวมทั้งข้อเคยต้องโทษมากก่อนด้วยเมื่อจำเลยปฏิเสธข้อเคยต้องโทษและโจทก์ไม่มีพยานสืบ ก็เพิ่มโทษจำเลยไม่ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา 93 คงให้จำคุกจำเลยเพียง 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทและโทษ ถือว่าแก้ไขมาก คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บัญญัติเพียงว่า ในคดีอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ฯลฯ ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลสอบถามว่าจำเลยมีทนายหรือไม่ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการ ก็ให้ศาลตั้งทนายให้ ศาลฎีกาเห็นว่ากฎหมายมาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อให้จำเลยมีทนายต่อสู้ในคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่ได้หมายความรวมถึงโทษที่จำเลยจะพึงได้รับจากการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วยการที่จำเลยจะถูกเพิ่มโทษหรือไม่ เป็นคนละส่วนกับกรณีความผิดที่จำเลยถูกฟ้องร้อง ฉะนั้น แม้จำเลยจะรับในข้อเคยต้องโทษก่อนตั้งทนาย คำรับก็ไม่เสียไป
เฉพาะคดีนี้ได้พิจารณาคำรับของจำเลยซึ่งมีข้อความว่า จำเลยขอให้การวันนัด ได้หาทนายความไว้แล้ว ไม่ต้องการให้ศาลตั้งทนายให้อีก รับว่าก่อนคดีนี้จำเลยมีอายุเกิน 17 ปีแล้ว เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกมีกำหนด 6 ปี ฐานปล้นทรัพย์ พ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2507 แล้ว เห็นว่าข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษนั้น จำเลยไม่ติดใจจะต่อสู้ จำเลยจึงรับ คงติดใจต่อสู้คดีเฉพาะข้อหาฐานชิงทรัพย์เท่านั้น ถึงวันที่จำเลยให้การ จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดจึงเห็นได้ว่าจำเลยปฏิเสธมิได้กระทำผิดในข้อหาฐานชิงทรัพย์เท่านั้นไม่มีถ้อยคำอะไรที่จะแสดงว่าจำเลยได้ปฏิเสธถึงข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษตามที่จำเลยรับไว้แล้วเลย เมื่อจำเลยรับแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องสืบพยานอีก ศาลพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยตามคำรับนั้นได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เพิ่มโทษจำเลย โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฎีกาจำเลย