คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5243/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพตามฟ้องว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ต้องสืบพยานให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งแม้โจทก์จะมีเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมาเบิกความ แต่คำเบิกความดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าได้เป็นผู้จับกุมจำเลย ส่วนที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลอื่นเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ จึงมีเพียงคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเท่านั้นที่นำมาใช้ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเป็นที่พอใจว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย คงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 12 1/2 เม็ด ไม่ทราบปริมาณน้ำหนักที่แน่ชัดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อจำนวน 6 เม็ด ไม่ทราบปริมาณน้ำหนักที่แน่ชัดในราคา 1,700 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมธนบัตรรวมเป็นเงิน 1,700 บาทซึ่งเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายที่เหลือจากการจำหน่ายจำนวน 6 1/2 เม็ด และยึดรถจักรยานยนต์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางเมทแอมเฟตามีนของกลางหมดไปในการตรวจพิสูจน์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบเงินจำนวน 1,700 บาท และรถจักรยานยนต์ของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 กลับให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 11 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน ริบเงินสดจำนวน 900 บาท และรถจักรยานยนต์ของกลาง คืนเงินสดของกลางจำนวน 800 บาท แก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,67 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 10,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ6 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คำขออื่นให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน2541 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา จับกุมได้พร้อมกับธนบัตรและเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลางปรากฏตามบันทึกการจับกุมและบัญชีของกลางคดีอาญา เมทแอมเฟตามีนของกลางตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริงหรือไม่ โจทก์ก็มีร้อยตำรวจเอกคัมภีร์และจ่าสิบตำรวจพงษ์สันติ ศรีนาค พยานผู้จับกุมยืนยันว่าก่อนจับกุมจำเลยทั้งสองนั้นได้สืบทราบมาก่อนว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่บุคคลภายในหมู่บ้านจึงได้เดินทางไปที่บ้านหนองพลอง ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลงจังหวัดนครราชสีมา ได้พบจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาจึงได้โบกรถให้หยุดทำการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน4 เม็ด อยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลยที่ 1 และพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 1/2 เม็ด อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของจำเลยที่ 2 พร้อมเงินสด1,700 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพว่า ได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 6 เม็ด ให้แก่นายอ๋า (ไม่ทราบนามสกุล)และส่วนที่เหลืออีก 6 1/2 เม็ด ของกลางนั้นมีไว้เพื่อจำหน่ายจึงได้ยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว เงินสดจำนวน 1,700 บาท และรถจักรยานยนต์ไว้เป็นของกลาง และโจทก์ยังมีพันตำรวจโทศุภวัฒน์ รังคะวัต พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จำเลยทั้งสองได้รับสารภาพว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยสมัครใจ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพก็เป็นเรื่องที่โจทก์และศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง นั่นคือ โจทก์ต้องสืบพยานให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง แม้โจทก์จะมีร้อยตำรวจเอกคัมภีร์และจ่าสิบตำรวจพงษ์สันติ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเป็นพยานเบิกความดังโจทก์ฎีกามาก็ตาม แต่ตามคำเบิกความดังกล่าวนั้นก็ฟังได้แต่เพียงว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จับกุมจำเลยในวันที่ 9 เมษายน 2541 ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 จริงเท่านั้น ส่วนพฤติการณ์ที่อ้างว่าสืบทราบว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้กับบุคคลในหมู่บ้านนั้นเป็นเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ของเจ้าพนักงานผู้จับกุมไม่มีพยานอื่นสนับสนุนให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และในขณะที่จับกุมจำเลยทั้งสองก็ไม่มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะแสดงให้เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้อื่นไป พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีแต่เพียงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเท่านั้นที่โจทก์ใช้นำมาประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นพิจารณา จึงเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเป็นที่พอใจว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share