คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4470/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 37 ตรีซึ่งห้ามมิให้เรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ซึ่งห้ามผู้ใดช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัดนั้น บทบัญญัติทั้งสองได้ระบุเน้นชัดไว้แล้วว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมอากรเข้าด้วย และปรับสองเท่าของราคาของ ตามลำดับ ดังนั้น หากศาลจะปรับจำเลยแต่ละคน คนละสี่เท่าและสองเท่า ก็จะเป็นการปรับเกินกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และมาตรา 120 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากรฯ ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่นให้ยกเอาพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนี้ จึงจะนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 31 ซึ่งบัญญัติให้ศาลลงโทษปรับผู้กระทำผิดหลายคนในความผิดเดียวกัน ในกรณีเดียวกันเรียงตามตัวบุคคลมาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวันจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ

ก. ตามวันเวลาดังกล่าว ได้มีผู้มีชื่อหลายคน ร่วมกันใช้เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่นำพาน้ำมันเชื้อเพลิงดีโซลีนจำนวน110,000 ลิตร ซึ่งเป็นของที่ผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ตามวันเวลาดังกล่าว ภายหลังที่มีผู้ลักลอบนำพาน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเข้ามาในเขตต่อเนื่อง จำเลยทั้งสี่ร่วมกันขนถ่ายน้ำมันดังกล่าวลงสู่เรือของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเรือกลประมงที่ใช้เครื่องจักรกลโดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ข. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันซื้อ หรือช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวจำนวน 7,144 ลิตร ราคา 30,290.56 บาทซึ่งเป็นจำนวนบางส่วนที่มีผู้นำพาเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสี่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ได้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งอากรที่จะต้องเสียสำหรับน้ำมันในส่วนนี้เป็นเงิน71 บาท ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 30,361.56 บาทอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ค. จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงดีโซลีนดังกล่าวที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมีปริมาณตั้งแต่สองร้อยลิตรขึ้นไปเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ง. จำเลยที่ 1 มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุคมนาคม และเครื่องมือหาที่เรือดาวเทียมอย่างละ 1 เครื่อง อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

จ. จำเลยที่ 1 นำเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวมาตั้งสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นในเรือกลประมงเพื่อรับส่งสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต

ฉ. จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวรับส่งสัญญาณโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ช. จำเลยที่ 1 ทำการในเรือประมงในตำแหน่งนายท้ายควบคุมเรือและเครื่องจักรกลเรือโดยมิได้รับประกาศนียบัตรรับรอง

เหตุทั้งหมดเกิดในทะเลบริเวณเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ห่างจากฝั่งทะเลด้านอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 59 ไมล์ และเหตุเกิดในเรือไทย ซึ่งตามกฎหมายถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร วันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสี่พร้อมทรัพย์ทั้งหมดตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ได้แก่ เรือประมง 1 ลำ น้ำมันเชื้อเพลิงดีโซลีน 7,144 ลิตร วิทยุรับส่ง และเครื่องมือหาที่เรือดาวเทียมอย่างละ 1 เครื่อง ที่จำเลยทั้งสี่ใช้ในการกระทำความผิด มีไว้เป็นความผิด และได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ, 32, 37 ตรี พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2456 มาตรา 3, 277, 282 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4,5, 32, 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลางส่วนเครื่องวิทยุคมนาคมให้ริบไว้เพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้นำจับตามกฎหมาย

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องต่างหาก

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี (ที่ถูกมาตรา 25 ตรี วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) ฐานซ่อนเร้น ปรับคนละ 121,446.24 บาท ฐานปลอมปนน้ำมันปรับคนละ20,000 บาท รวมปรับคนละ 141,446.24 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ70,723.12 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบเรือและน้ำมันเชื้อเพลิงของกลาง ส่วนของกลางที่เหลือเป็นของกลางที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิเสธ จึงไม่ริบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 37 ตรีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันใช้เรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องในราชอาณาจักรไทยขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอีกกระทงหนึ่งให้ปรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รวมกันเป็นเงิน 60,581.12 บาท และให้ปรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฐานร่วมกันซื้อรับไว้ซึ่งของต้องห้ามที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 27 ทวิรวมกันเป็นเงิน 121,446.24 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รวมกันเป็นเงิน 30,290.56 บาท และ 60,723.12 บาท ตามลำดับเมื่อรวมกับความผิดฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยแต่ละคนโดยลดโทษแล้วจำเลยทั้งสาม (ที่ถูกจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4) จะต้องชำระค่าปรับรวมกันเป็นเงิน 91,013.68 บาท และปรับจำเลยทั้งสาม (ที่ถูกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4) อีกคนละ 10,000 บาทให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ อันเกิดจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ และ 37 ตรี ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 37 ตรี ที่ห้ามมิให้เรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมาตรา 27 ทวิ ที่ห้ามผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด กฎหมายดังกล่าววางบทลงโทษผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ มิได้ใช้ถ้อยคำว่าร่วมกันรับผิดปรับไม่เกินสองเท่าหรือปรับไม่เกินสี่เท่า การลงโทษจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกันให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล” นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวดเดียวกับมาตรา 27 ทวิและมาตรา 37 ตรี ซึ่งเป็นหมวดต่อเนื่องกัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับโทษว่า”สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งจำทั้งปรับ”ส่วนมาตรา 37 ตรี บัญญัติเกี่ยวกับโทษไว้ว่า “ถ้านายเรือหรือบุคคลใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาของหรือปรับเป็นเงินห้าหมื่นบาทแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 27 ทวิ บัญญัติไว้ว่า”ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย…หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัด มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายระบุเน้นชัดไว้แล้วว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของ ซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วย และปรับสองเท่าของราคาของ ตามมาตรา 27 ทวิ และ 37 ตรี ตามลำดับ ดังนั้น หากศาลจะปรับจำเลยแต่ละคนคนละสี่เท่า และสองเท่าตามกฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นการปรับเกินกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับกฎหมายอื่น ให้ยกเอาพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับจึงนำบทบัญญัติมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาบังคับไม่ได้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share