คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2783/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้การว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ข้อที่ไม่รับกันจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางจดไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ทำการทุจริต จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ผลแห่งการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ผลแห่งการเลิกจ้างจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์อันเป็นผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้จึงไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น
จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทำบันทึกขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มของ น. คืนและทำใบเบิกจ่ายเงินเสนอผู้บังคับบัญชาระบุว่า น. ขอเบิกเงินค่ามัดจำคืนโดยลงชื่อ น. ในใบเบิกจ่ายเงินช่องผู้ขอเบิกทั้ง ๆ ที่ น. ไม่มีสิทธิเบิกและไม่ได้ขอเบิก เป็นทั้งการทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างการที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ได้กระทำการตามที่จำเลยให้การก็ชอบที่จะวินิจฉัยปรับบทด้วยว่าเป็นการปลอมเอกสารใบเบิกจ่ายเงินอันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามที่จำเลยให้การไว้หรือไม่ด้วย การไม่วินิจฉัยปรับบทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกขายปลีกกะรัตเซ็นเตอร์ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 29 ของเดือนวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยมาครบ 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน คิดเป็นเงิน 48,600 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน คิดเป็นเงิน 16,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 16,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าชดเชยจำนวน 48,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2542 โจทก์ทำบันทึกขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มของนางสาวนิษารัตน์ พันธา ซึ่งลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยคืน 2 ตัว พร้อมกับทำใบเบิกจ่ายเงินแนบท้ายเสนอผู้บังคับบัญชาระบุว่านางสาวนิษารัตน์ขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืน 2 ตัว ตัวละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 1,000 บาทซึ่งเป็นเท็จ เพราะนางสาวนิษารัตน์ไม่ได้ถูกหักเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มไว้ไม่มีสิทธิเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืนโดยปลอมลายมือชื่อของนางสาวนิษารัตน์ลงในใบเบิกจ่ายเงินช่องผู้ขอเบิก และลงลายมือชื่อของตนเองในช่องผู้ตรวจ อันเป็นการปลอมเอกสารและเป็นการกระทำความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประการเดียวว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อนางสาวนิษารัตน์ พันธาออกจากงานแล้วได้ส่งเสื้อฟอร์ม 2 ตัว คืนจำเลยผ่านทางโจทก์โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าตนไม่ได้เสียเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มไว้และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่านางสาวนิษารัตน์ไม่มีสิทธิเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืนโจทก์ทำบันทึกขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มของนางสาวนิษารัตน์คืน และทำใบเบิกจ่ายเงินตามเอกสารหมาย ล.1 เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยแนบเอกสารหลักฐานการยืมเสื้อฟอร์มและหลักฐานการส่งคืนตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 32 ซึ่งมีลายมือชื่อที่แท้จริงของนางสาวนิษารัตน์ประกอบใบเบิกจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.1 ทำขึ้นโดยใช้แบบฟอร์มซึ่งมีช่องผู้ขอเบิก ผู้ตรวจ ผู้อนุมัติ ผู้จ่าย ผู้รับ และผู้ลงบัญชี โจทก์เพียงแต่เขียนชื่อนิษารัตน์ลงในช่องผู้เบิกไม่ได้เขียนในช่องผู้รับมีลักษณะเป็นการทำไปตามที่เป็นจริงทั้งเป็นงานในหน้าที่ของโจทก์ โจทก์อยู่ในฐานะเขียนได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทำการทุจริต เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำการทุจริต การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน16,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 48,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะที่ศาลฎีกาให้รับไว้พิจารณาว่าการที่ศาลแรงงานกลางมิได้นำข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของโจทก์ที่ทำใบเบิกจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.1 โดยเขียนชื่อนางสาวนิษารัตน์ลงในช่องผู้ขอเบิกมาวินิจฉัยปรับบทว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างโดยการปลอมเอกสารตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประการหนึ่ง กับการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นการพิพากษานอกประเด็นเพราะศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่อีกประการหนึ่งสำหรับเรื่องการพิพากษานอกประเด็น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ ข้ออ้างและข้อเถียงที่คู่ความไม่รับกันจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางจดไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ทำการทุจริต จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดผลแห่งการเลิกจ้างจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 118 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์อันเป็นผลการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้จึงไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนเรื่องการวินิจฉัยปรับบทข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของโจทก์ว่า เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างโดยการปลอมเอกสารหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าการที่โจทก์ทำบันทึกขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มของนางสาวนิษารัตน์คืนและทำใบเบิกจ่ายเงินเสนอผู้บังคับบัญชาระบุว่านางสาวนิษารัตน์ขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืนโดยลงชื่อนางสาวนิษารัตน์ในใบเบิกจ่ายเงินช่องผู้ขอเบิกทั้ง ๆ ที่นางสาวนิษารัตน์ไม่มีสิทธิเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืนและไม่ได้ขอเบิกเงินดังกล่าว เป็นทั้งการทุจริตต่อหน้าที่และการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างโดยการปลอมเอกสารใบเบิกจ่ายเงินในคดีแรงงานได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติเรื่องประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วโดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ดังนี้เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ได้กระทำการตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงชอบที่จะต้องวินิจฉัยปรับบทด้วยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการปลอมเอกสารใบเบิกจ่ายเงินอันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้หรือไม่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยปรับบทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นปัญหาเรื่องการวินิจฉัยปรับบทเป็นปัญหาข้อกฎหมายและคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารหรือไม่ เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวนิษารัตน์ส่งเสื้อฟอร์ม2 ตัว คืนจำเลยผ่านทางโจทก์โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าตนไม่ได้เสียเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มไว้ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่านางสาวนิษารัตน์ไม่มีสิทธิเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืนโจทก์ทำบันทึกขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มของนางสาวนิษารัตน์คืนและทำใบเบิกจ่ายเงินตามเอกสารหมาย ล.1 เสนอผู้บังคับบัญชาตามหน้าที่ โดยมีการแนบเอกสารหลักฐานการยืมเสื้อฟอร์มและหลักฐานการส่งคืนตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 32 ซึ่งมีลายมือชื่อที่แท้จริงของนางสาวนิษารัตน์ปรากฏอยู่ประกอบไปด้วย ย่อมจะทำให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบได้อยู่แล้วว่าลายมือชื่อของนางสาวนิษารัตน์เป็นอย่างไร ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในเบิกจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.1ใช่ลายมือชื่อของนางสาวนิษารัตน์หรือไม่ ประกอบกับโจทก์เขียนชื่อนิษารัตน์ลงในใบเบิกจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.1 เฉพาะในช่องผู้ขอเบิกไม่ได้เขียนลงในช่องผู้รับ ตัวอักษรที่เขียนขึ้นก็มีรูปลักษณะแตกต่างไปจากลายมือชื่อของนางสาวนิษารัตน์ในเอกสารหมาย ล.3 อย่างสิ้นเชิงจึงเห็นได้ว่าโจทก์เขียนคำว่านิษารัตน์ลงในใบเบิกจ่ายเอกสารหมายล.1 เพียงเพื่อให้มีข้อความครบถ้วนว่าใครเป็นผู้ขอเบิกเงินดังกล่าวเท่านั้น มิได้มีเจตนาจะให้ผู้พบเห็นเข้าใจหรือหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของนางสาวนิษารัตน์ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารไม่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างจึงไม่ทำให้จำเลยได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share