คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2655/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการครอบครองที่ดินของจำเลยและโจทก์เป็นส่วนสัดก็ต้องแบ่งที่ดินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวนอกจากเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงยุติดังที่จำเลยกล่าวอ้างดังกล่าว แต่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแน่นอนดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จะต้องรับฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างด้วยเหตุประการใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาโดยไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7115ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 7115 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ขายที่ดินดังกล่าวโดยการประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยนำเงินมาแบ่งคนละกึ่งหนึ่ง หากไม่อาจประมูลได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินโดยไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างให้ต่างคนต่างรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินได้เงินเท่าใดนำมาแบ่งคนละกึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิแบ่งที่ดินคนละกึ่งหนึ่งกับจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย นายถาวร น้อยปิ่นทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งวิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า หลังจากนางสุดาตายเมื่อปี 2530 โจทก์และจำเลยรับโอนมรดกที่ดินพิพาทโดยระบุในสารบัญจดทะเบียนว่า โจทก์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์รวม โดยมิได้ระบุส่วนสัดในการถือกรรมสิทธิ์ตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทและแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดกเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เมื่อนำมาวินิจฉัยประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ที่ยืนยันว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งแล้ว ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยซึ่งเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลย ไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 149 ตารางวา เป็นส่วนสัดแน่นอนเมื่อจำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดแน่นอนตามที่จำเลยอ้างจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า โจทก์และจำเลยมีส่วนในที่ดินพิพาทเท่ากันตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตามมาตรา 1363 จำเลยฎีกาว่าตามข้อสันนิษฐานของมาตรา 1357 น่าจะใช้ได้ในกรณีที่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการครอบครองที่ดินของจำเลยและโจทก์เป็นส่วนสัดก็ต้องแบ่งที่ดินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เมื่อที่ดินพิพาทมีตะล่อมข้าวที่จำเลยครอบครองและใช้ประโยชน์เพียงผู้เดียวเนื้อที่ 199 ตารางวา ที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองปลูกบ้านมีเนื้อที่ 48ตารางวา เท่านั้น ศาลฎีกา เห็นว่าที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการครอบครองที่ดินของจำเลยและโจทก์เป็นส่วนสัดก็ต้องแบ่งที่ดินตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น นอกจากเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7ก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงยุติดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ดังกล่าว แต่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานจำเลยซึ่งเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลย ไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 199 ตารางวาเป็นส่วนสัดแน่นอนฎีกาของจำเลยจึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7ว่าไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จะต้องรับฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างด้วยเหตุประการใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลย

Share