คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การส่งใช้เงินค่าหุ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1119,1120 และ 1221 กำหนดให้ต้องส่งใช้เป็นเงินเท่านั้น โดยกรรมการของบริษัทจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นตามวิธีการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้มีจดหมายส่งลงทะเบียนบอกกล่าวเรียกเก็บเงินค่าหุ้นไปยังผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆแต่อย่างใด ที่ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อจำเลยเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจึงได้มีการตกลงกันภายในระหว่างสองบริษัทว่า “หนี้ค่าหุ้นที่ทวงถามไปนั้น บริษัทจำเลยขอให้บริษัทผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่เหลือเป็นวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนการชำระเป็นเงิน” ข้อตกลงดังกล่าวหากมีจริงก็ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัทข้อตกลงที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย นอกจากนี้ในส่วนงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยกฎหมายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว หาใช่ว่าผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องค้างชำระค่าหุ้นดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระให้แก่จำเลยแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพบว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องค่าหุ้นที่ค้างชำระจากผู้ร้องมูลค่าหุ้นละ70 บาท จำนวน 35,998 หุ้น จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องนำเงินค่าหุ้นที่ค้างจำนวน 2,519,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดไปชำระแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอ้างว่าได้ชำระค่าหุ้นแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2538 ยืนยันจำนวนหนี้และให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นเงินจำนวน 2,519,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2537 (วันผิดนัด)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องชำระค่าหุ้นเต็มตามมูลค่าหุ้นแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โดยชำระค่าหุ้นที่ค้างด้วยวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจเรียกให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยอีก ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีรายชื่อลูกหนี้ของจำเลย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า จากงบดุลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้จัดทำขึ้นโดยอาศัยเอกสารทางบัญชีของจำเลย มิได้ระบุว่าผู้ร้องได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว แม้ผู้ร้องจะได้ปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้านภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย แต่ผู้ร้องไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาให้ผู้คัดค้านสอบสวนให้เห็นได้ว่าเป็นจริงดังที่ผู้ร้องปฏิเสธ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้ชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระมูลค่าหุ้นละ70 บาท ด้วยวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนการชำระด้วยเงินสดแล้วหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “หุ้นทุก ๆ หุ้น จำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221″และวรรคสองบัญญัติว่า “ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่” มาตรา 1120 บัญญัติว่า “บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น” มาตรา 1121 บัญญัติว่า “การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่ายี่สิบเอ็ดวันด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่เรียกนั้น สุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใด และเวลาใด” ดังนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้การส่งใช้เงินค่าหุ้นต้องเป็นเงินเท่านั้น โดยกรรมการของบริษัทจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นตามวิธีการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ แต่ปรากฏหลักฐานตามงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จพท.2 และ จพท.3 ว่าผู้ร้องและบุคคลอื่น ๆที่เป็นผู้ถือหุ้นต่างก็ค้างชำระค่าหุ้นเช่นเดียวกัน ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้มีจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์บอกกล่าวเรียกเก็บเงินค่าหุ้นไปยังผู้ร้องหรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ แต่อย่างใด ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อจำเลยเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจึงได้มีการตกลงกันภายในระหว่างสองบริษัทว่า “หนี้ค่าหุ้นที่ทวงถามไปนั้น บริษัทจำเลยขอให้บริษัทผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่เหลือเป็นวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนการชำระเป็นจำนวนเงิน” ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมาสนับสนุนและข้อตกลงดังกล่าวหากมีจริงก็ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัทข้อตกลงที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย นอกจากนี้ในส่วนงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยกฎหมายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว หาใช่ว่าผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องค้างชำระค่าหุ้นดังที่ผู้ร้องฎีกาไม่ ผู้ร้องคงมีเพียงนายเตมีย์วุฒิวีรพงศ์ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องมาเบิกความว่าผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลย ผู้ถือหุ้นได้ตกลงในที่ประชุมบริษัทว่า การชำระค่าหุ้นแบ่งเป็น 2 อย่าง ครั้งแรกชำระ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินสดและครั้งต่อมาที่ประชุมบริษัทมีมติว่าให้นำวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างชำระแทนเงินสด เหตุที่ที่ประชุมบริษัทมีมติเช่นนั้น เพราะจำเลยประมูลงานได้ที่อาคารใบหยกทาวเวอร์ 2 ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย ร.ค.16 หลังจากประมูลงานได้แล้ว จำเลยเกิดภาวะการเงินไม่คล่องตัว ที่ประชุมบริษัทจึงลงมติให้ผู้ร้องนำวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างชำระแทนเงินค่าหุ้นและจำเลยก็ได้เบิกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากผู้ร้องไปตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2534ถึงวันที่ 25 เมษายน 2535 ตามเอกสารหมาย ร.ค.2 ถึง ร.ค.11และ ร.ค.17 ถึง ร.ค.21 เหตุที่จำเลยไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องการชำระค่าหุ้น ก็เพราะติดขัดข้อบังคับของหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 17 เรื่องการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจะต้องมีผู้ถือหุ้นรวมทั้งหมด75 เปอร์เซ็นต์ จึงจะครบองค์ประชุม แต่จำเลยมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ 49 เปอร์เซ็นต์ และเดินทางกลับต่างประเทศจึงไม่อาจประชุมได้ ข้อนำสืบของผู้ร้องดังกล่าวไม่สมเหตุผลเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เรียกให้ชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระตั้งแต่เมื่อใด ผู้ร้องอ้างว่าที่ประชุมบริษัทมีมติอนุมัติให้ชำระค่าหุ้นด้วยวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนเงินสด แต่ก็ไม่มีหลักฐานบันทึกรายงานการประชุมมาแสดง แม้กระทั่งการที่ผู้ร้องได้ส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2535 และได้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2535 ตามที่ปรากฏในงบดุลเอกสารหมาย จพท.2 ก็ไม่มีระบุว่ามีการชำระค่าหุ้นของผู้ร้องด้วยวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทนเงินสดแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ในวันที่ 27เมษายน 2535 นั้น ผู้ร้องอ้างว่าได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย รค.1แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่เบิกทั้งหมดแก่จำเลยเพื่อจะให้ดำเนินการทางบัญชีต่อไป แต่ก็หาได้มีการดำเนินการเช่นว่านั้นไม่ อย่างน้อยผู้ร้องได้เข้าประชุมผู้ถือหุ้นด้วยในวันที่ 30 เมษายน 2535 ซึ่งได้อนุมัติงบดุลก็น่าจะพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ปรากฏ เมื่อผู้คัดค้านได้มีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องตามเอกสารหมาย จพท.4 ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้โดยอ้างว่าชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้วตามเอกสารหมาย จพท.5ครั้นผู้คัดค้านได้แจ้งให้ผู้ร้องนำพยานหลักฐานมาให้สอบสวนผู้ร้องก็หานำมาให้สอบสวนแต่อย่างใดไม่ พยานหลักฐานของผู้ร้องรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระให้แก่จำเลยแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share