คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างจำนวน 8ล้านบาท ที่ผู้ร้องมีต่อการเคหะแห่งชาติ เพราะได้สอบสวนแล้วเห็นว่าผู้ล้มละลายเป็นเจ้าหนี้ผู้ร้องโดยเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างอาคารที่ผู้ร้องเป็นผู้รับจ้างจากการเคหะแห่งชาติ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือยืนยันหนี้จำนวนดังกล่าวไปยังผู้ร้องแล้วด้วย ดังนี้ สิทธิเรียกร้องเงินค่าก่อสร้างจากการเคหะแห่งชาตินี้เป็นของผู้ร้อง หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันจอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะอายัดโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 19 และ 22
ปัญหาที่ว่าผู้ร้องได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างจากการเคหะแห่งชาติให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ผู้ร้องจะมีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดได้หรือไม่นั้น ปัญหาข้อนี้ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมบริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ก่อนศาลพิพากษา โจทก์และเจ้าหนี้รายอื่นได้ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ คงเหลือผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 4 รายเดียว และได้เข้าเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2516 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยคำร้องขอของนางสาวสุนารี สันติธรารักษ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ได้มีคำสั่งอายัดเงินค่าก่อสร้างอาคารประชานิเวศน์ 2 จำนวน 8 ล้านบาท ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับจากเทศบาลนครหลวง ปัจจุบันได้โอนสิทธิและหน้าที่ให้แก่การเคหะแห่งชาติแล้ว โดยนางสาวสุนารีอ้างว่าตนเป็นผู้จ่ายทดรองแทนจำเลยไป 8 ล้านบาทเศษต่อมาศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของนางสาวสุนารีทั้งหมด ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ถอนการอายัด ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลายสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รีบเสนอความเห็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ผู้ร้องเสียก่อนโดยไม่ถอนการอายัดให้ ผู้ร้องเห็นว่า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจอายัดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 19, 22 เพราะเป็นทรัพย์สินซึ่งจะนำมาแบ่งในคดีล้มละลายไม่ได้ ทั้งจะอ้างการทวงหนี้ตามมาตรา 119 มาเป็นเหตุอายัดก็ไม่ได้ เพราะการอายัดทรัพย์ของผู้ถูกทวงหนี้เป็นอำนาจของศาล หาใช่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ จึงขอให้สั่งเจ้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินรายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การอายัดนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 19, 22 และ 109 แม้คำขอรับชำระหนี้ของนางสาวสุนารีจะถูกศาลสั่งให้ยกเสียก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้อำนาจการอายัดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิ้นไป

ศาลชั้นต้นสอบถามแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงรับว่า ขณะนี้คงมีเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้คือผู้ร้องรายเดียว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้อายัดเงินค่าก่อสร้างซึ่งผู้ร้องมีสิทธิได้รับจากเทศบาลนครหลวงไว้โดยคำร้องขอของนางสาวสุนารี ซึ่งขณะนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาว่าไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนการอายัด

เจ้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องรายพิพาทที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอายัดในคดีนี้เป็นของผู้ร้องซึ่งมีสิทธิได้รับชำระเงินค่าก่อสร้างอาคารประชานิเวศน์ 2 จำนวน 8 ล้านบาทจากการเคหะแห่งชาติ หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยลูกหนี้ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 109 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีสิทธิที่จะอายัดสิทธิเรียกร้องรายพิพาทโดยอาศัยอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 22 ได้ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยลูกหนี้ได้ลงทุนไปในการก่อสร้างอาคารประชานิเวศน์ 2 ไปเป็นเงิน 8 ล้านบาทเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้ผู้ร้องอยู่ตามจำนวนดังกล่าว และได้มีหนังสือยืนยันหนี้ดังกล่าวไปยังผู้ร้องแล้ว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งก็ตาม เห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่มีอำนาจที่จะอายัดสิทธิเรียกร้องรายพิพาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 22 ได้เช่นกันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่าผู้ร้องได้โอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างจากการเคหะแห่งชาติให้แก่ธนาคารเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรม จำกัด ไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิมาร้องขอถอนการอายัดรายนี้ได้นั้น เห็นว่าปัญหาข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

พิพากษายืน

Share