แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์ที่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงแรกแล้วตัดโค่นต้นไม้ถมที่ และทำเขื่อนเป็นการปรับปรุงให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น แล้วซื้อที่ดินแปลงหลังเพื่อให้มีทางเข้าออกสู่ที่ดินแปลงแรกและขายไปทั้งสองแปลงหลังจากซื้อที่ดินแปลงหลังไม่ถึง 4 เดือน ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะตั้งโรงงานดังที่โจทก์อ้าง ดังนี้ แสดงว่าโจทก์ขายที่ดินไปเป็นทางค้าหรือหากำไร “การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต” ในมาตรา 8(32) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ90 นั้น ย่อมหมายถึงของอันเกิดจากการผลิต เพราะถ้าจะให้หมายถึงของทุกชนิดไม่ว่าจะเกิดจากการผลิตหรือไม่แล้ว กฎหมายก็ไม่จำต้องบัญญัติคำว่า “ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต” กำกับไว้และคำว่าผลิตหมายความว่าทำการเกษตรหรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบ แปรรูป แปรสภาพสินค้า หรือทำการอย่างใดให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยประการใดๆ “ผู้ผลิต”หมายความว่าผู้ประกอบการค้าที่ทำการผลิต (ประมวลรัษฎากรมาตรา 77) ที่ดินจึงมิใช่ของที่เกิดขึ้นเนื่องจากการผลิตจะนำมาตรา 8(32) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาปรับในเรื่องการขายที่ดินไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่า การประเมินภาษีเงินได้และภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์มิได้ขายที่ดินโดยมุ่งหวังกำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้า
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะตั้งโรงงานของบริษัทธนาทิพย์ จำกัด ตามที่โจทก์อ้าง และวินิจฉัยต่อไปว่าพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินแปลงแรก แล้วตัดโค่นต้นไม้ ถมที่ ทำเขื่อน เป็นการปรับปรุงที่ดินให้มีราคาสูงขึ้น แล้วซื้อที่ดินแปลงหลัง เพื่อให้มีทางเข้าออกสู่ที่ดินแปลงแรกและขายไปทั้งสองแปลงหลังจากซื้อที่ดินแปลงหลังไม่ถึง 4 เดือน เป็นการแสดงว่า โจทก์ขายที่ดินแปลงที่ 2 ไป เป็นทางค้าหรือหากำไร
ที่โจทก์ฎีกาว่า ควรหักค่าใช้จ่ายให้ร้อยละ 90 ตามมาตรา 8(32) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502บัญญัติว่าเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังต่อไปนี้ ฯลฯ (32) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต คำว่า “ของ ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต” ย่อมหมายถึงของอันเกิดจากการผลิต เพราะถ้าจะให้หมายความถึงของทุกชนิดไม่ว่าจะเกิดจากการผลิตหรือไม่แล้ว กฎหมายก็ไม่จำต้องบัญญัติคำว่า “ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต” กำกับไว้ บัญญัติแต่เพียงว่า “การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่น” ก็พอ ในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีการค้า คำว่า “ผลิต”หมายความว่าทำการเกษตรหรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบ แปรรูปแปรสภาพสินค้า หรือทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ”ผู้ผลิต” หมายความว่าผู้ประกอบการค้าที่ทำการผลิต (ประมวลรัษฎากรมาตรา 77 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้าย โดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินมิใช่ของเกิดขึ้นเนื่องจากการผลิตจะนำมาตรา 8(32) มาปรับในเรื่องการขายที่ดินหาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย การประเมินภาษีการค้าภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน