แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 24 มิได้มีข้อห้ามแต่งตั้งข้าราชการประจำ หรือข้าราชการบำนาญเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และมิได้กำหนดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทั้งหมดจะต้องแต่งตั้งจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างแต่ประการใด บัญญัติเพียงว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนและไม่เกินเก้าคน ต้องแต่งตั้งจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคนเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีเก้าคน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญด้วย และกรรมการในฐานะผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้างฝ่ายละคน จึงเป็นกรรมการที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว
ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 26 บัญญัติไว้เพียงว่าการประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก มิได้กำหนดว่าจะต้องมีกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายฝ่ายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมประชุม หรือลงชื่อในคำชี้ขาดด้วยทุกครั้งไป ดังนั้นการที่ไม่มีกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างร่วมลงนามในคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ไม่ทำให้คำชี้ขาดนั้นขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
โจทก์ฎีกาว่า ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น เมื่อไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ชี้ขาดว่า โจทก์กระทำการไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง คือ จำเลยที่ 8 ที่ 9 ให้โจทก์รับจำเลยที่ 8 ที่ 9 กลับเข้าทำงานตามเดิม และจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ให้การว่า เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องทุกประการแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยที่ 8 ที่ 9 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำสั่งชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุ 2 ประการคือ
1. ตัวบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มิได้มาจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างทั้งหมด แต่มีข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญอยู่ด้วย ได้พิเคราะห์แล้วประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 24 บัญญัติว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า ห้าคนและไม่เกินเก้าคน และต้องแต่งตั้งจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคน มิได้มีข้อห้ามแต่งตั้งข้าราชการประจำ หรือข้าราชการบำนาญ และมิได้กำหนดว่า กรรมการทั้งหมดต้องมาจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างแต่อย่างใด คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชุดนี้มีจำนวนเก้าคนและมีกรรมการในฐานะผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 1 คน เป็นการถูกต้องตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 แล้ว
2. คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 4/2517 ไม่มีกรรมการที่เป็นฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมประชุมด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า กรรมการที่ลงนามในคำชี้ขาดฉบับนี้คือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 โดยเฉพาะนายสนั่นวงศ์สุธี จำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง แต่ไม่มีกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างร่วมลงนามในคำชี้ขาดฉบับนี้ ดังนี้จะเป็นการชอบหรือไม่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับที่กล่าวถึงข้างต้นข้อ 26 ได้บัญญัติถึงการประชุมของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไว้เพียงว่า ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก มิได้กำหนดว่าจะต้องมีกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมประชุม หรือลงชื่อในคำชี้ขาดด้วยทุกครั้งไป คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ฉบับนี้ จึงไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่า ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น จึงไม่วินิจฉัย
พิพากษายืน