คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1829/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จำนองที่พิพาทต่อจำเลยที่ 2 ภายในวงเงิน 400,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ แล้วคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หนึ่งล้านบาทเศษ และต้องเอาที่พิพาทขายทอดตลาดชำระหนี้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนการจำนองที่พิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 รับไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาท ตามสัญญาจำนอง ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับไถ่ถอนการจำนองก็โดยโจทก์ใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ แต่ปรากฏว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีสิทธิจะไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 400,000 บาทแล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับไถ่ถอนจำนองที่พิพาทในวงเงิน 400,000 บาทได้
ศาลมีอำนาจหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความร้องขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1จำนองที่ดินดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องไถ่ถอนจำนองแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้ไถ่ถอนจำนองในวงเงิน 400,000 บาท ตามที่ปรากฎในสัญญาจำนอง ทำให้โจทก์เสียหายจึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับไถ่ถอนจำนองในวงเงินดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ขัดข้องในการที่จะโอนขายที่ดินให้โจทก์

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันเฉพาะที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล โดยจำเลยที่ 1กับพวกผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,268,099 บาท 15 สตางค์เมื่อไม่ชำระหนี้ จะต้องเอาที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 รู้อยู่ก่อนแล้วยังทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 นั้น บทกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นได้เองโดยไม่ต้องรอคำขอจากคู่ความก่อน ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้ไถ่ถอนจำนองและจำเลยที่ 2 ให้รับไถ่ถอนจำนองหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่า เมื่อเดือนเมษายน 2505 จำเลยที่ 1 จำนองที่พิพาทต่อจำเลยที่ 2 (ขณะใช้ชื่อว่า ธนาคารเกษตรจำกัด) เพื่อประกันหนี้ที่บริษัทสหธัญญะเจริญ จำกัด เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 ภายในวงเงิน 400,000 บาทต่อมา พ.ศ. 2508 จำเลยที่ 2 ฟ้องให้บริษัทสหธัญญะเจริญ จำกัด จำเลยที่ 1และนายเล็ก จุลโสภณศรี หรือจุลโสภณ ร่วมกันชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 เป็นเงินหนึ่งล้านสองแสนบาทเศษ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4533/2508ของศาลชั้นต้น ผลแห่งคดีนั้นคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2508 ว่าให้นำที่ดินของนายเล็ก จุลโสภณศรี ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ก่อน ส่วนที่เหลือให้บริษัทสหธัญญะเจริญ จำกัดชำระหนี้ภายใน 1 ปี หากผิดนัดให้นำที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ครั้นวันที่ 12 ตุลาคม 2516 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์ตามฟ้อง ได้ความดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับไถ่ถอนการจำนองก็โดยโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1ผู้เป็นลูกหนี้ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ซึ่งหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยที่ 1มีหน้าที่ต้องชำระให้จำเลยที่ 2 เป็นเงินถึง 1 ล้านบาทเศษ และต้องเอาที่ดินพิพาทมาขายทอดตลาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยดังนี้ แม้แต่จำเลยที่ 1 ผู้จำนองเองก็ไม่มีสิทธิที่จะไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 400,000 บาทได้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับไถ่ถอนจำนองที่พิพาทในวงเงินอันจำกัด 400,000 บาท ได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฎิบัติตามสัญญา คือไม่จัดการไถ่ถอนจำนองภายในกำหนดเวลา 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นการผิดสัญญาโจทก์ก็คงมีสิทธฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อเรียกร้องดอกเบี้ยหรือค่าปรับตามข้อสัญญาเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ให้ไถ่ถอนและจำเลยที่ 2 ให้รับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทภายในจำนวนเงิน 400,000 บาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share