แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ แม้โจทก์นำสืบว่าจำเลยไม่เคยสั่งซื้อสินค้าพิพาทจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ เช็คพิพาทนั้นไม่ได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ส่วนตัว แต่เป็นเช็คที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้บางส่วนแทนบุคคลอื่น การนำสืบดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เช็คมาอย่างไร และเหตุใดโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทนั้นเป็นเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายและโจทก์เป็นผู้ทรง จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้จำเลยจะตั้งทนายมาถามค้านพยานโจทก์ก็ตาม ข้อต่อสู้ของจำเลยเรื่องโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ไม่ได้เป็นประเด็นมาแต่แรก จำเลยจะยกข้อเท็จจริงเรื่องนี้ขึ้นอ้างในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยนั้น ไม่ได้ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดวันสั่งจ่าย โจทก์นำเช็คไปขอรับเงินจากธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ แต่นำสืบว่าไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ เช็คพิพาทไม่ได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ส่วนตัว แต่เป็นเช็คที่จำเลยออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้บางส่วนแทนนางเฉลียว ซึ่งเป็นหนี้โจทก์นั้น การนำสืบดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้เช็คมาอย่างไร และเหตุใดโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบเท่านั้น เมื่อเช็คพิพาทจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายและโจทก์เป็นผู้ทรง จำเลยย่อมต้องรับผิดใช้เงินตามเช็ค เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะโจทก์ฟ้องนางเฉลียวให้ชำระหนี้เต็มจำนวน โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้นางเฉลียวชำระหนี้ดังกล่าวเต็มจำนวนแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่เป็นประเด็นแห่งคดีมาแต่แรก ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙