คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากกรรมการของธนาคารพาณิชย์จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเนื่องจากจำเลยดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 24 ตรีซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505(ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2540 มาตรา 4 และให้ถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยด้วย ทำให้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยเป็นการอีกต่อไป จึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2519 โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม2521 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 จำเลยแจ้งการเลิกจ้างต่อโจทก์ทั้งสองโดยให้เป็นผลเลิกจ้างทันที ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเงินค้ำประกันการทำงานแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่เลิกจ้าง (วันที่ 14 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในธนาคารจำเลยเกิดจากคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่สั่งถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากตำแหน่ง จำเลยไม่ใช่เป็นผู้สั่งให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่ง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเคยเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการรองผู้จัดการได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 551,235 บาท และ 379,145 บาทตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม2541 เป็นต้นไป ตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมายล.2 คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นการเลิกจ้างที่สืบเนื่องมาจากจำเลยประสบปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องไม่สามารถเพิ่มทุนได้ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถจะแก้ไขได้ การเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 12,448,723.75 บาท เงินฝากค้ำประกันจำนวน2,081,979.50 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน826,852.50 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน34,452.18 บาท และค่าชดเชยจำนวน 3,307,410 บาท แก่โจทก์ที่ 1และให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 5,616,085.31 บาท เงินฝากค้ำประกันจำนวน 1,380,593.81 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 568,717.50 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 23,696.56 บาท และค่าชดเชยจำนวน 2,274,870 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541ยกเว้นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นับตั้งแต่วันที่ 7พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสองเสร็จ

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนว่า คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 24 ตรีวรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2540 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ใดซึ่งหากปล่อยเนิ่นช้าอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งถอดถอนกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์นั้น และแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งแทนได้ทันทีตามที่เห็นสมควร” และวรรคท้ายบัญญัติว่า “ให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ถอดถอนหรือแต่งตั้งตามมาตรานี้เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น” การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากกรรมการของจำเลยตามคำสั่งเอกสารหมายล.2 นั้น สืบเนื่องมาจากจำเลยมีฐานะการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนอีกทั้งจำเลยไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ แม้ทางการจะได้ให้โอกาสจำเลยเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น และถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยด้วยและผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยอีกต่อไป จึงต้องถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนที่อ้างว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 110,247 บาท และ 75,829 บาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share