คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นอีก200,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ในเนื้อหาแห่งคดีโดยตรง แต่โจทก์ได้ยกเหตุว่าค่าขึ้นศาลอันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมนั้น มิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายและโต้แย้งคำสั่งศาลแล้ว จึงอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 24 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 168 มาตรา 226 และ 247
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคหนึ่งกำหนดว่า ในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาท ในการพิจารณาว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเท่าใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตาราง 1ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1)
การคิดค่าขึ้นศาลในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ว่า คำฟ้องในกรณีปกติให้เรียกค่าขึ้นศาลโดยอัตรา 2.50 บาท ต่อทุก 100 บาท แต่ไม่ให้เกิน 200,000 บาทแม้ว่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทเมื่อคำนวณแล้วจะเกิน 200,000 บาท ก็ตาม ซึ่งหามีบทบัญญัติบังคับว่า ในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท เท่านั้นไม่แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน
คำฟ้องตามมาตรา 1(3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล เมื่อพิจารณาประกอบกับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 แสดงให้เห็นว่าในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อด้วยกันได้ และให้อำนาจแก่ศาลมีคำสั่งแยกคดีได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาหนึ่งข้อหาใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆหรือแม้ว่าข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกัน แต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะเป็นการสะดวกศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าถ้าศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสี่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีที่มีหลายข้อหาย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปว่าเกี่ยวข้องกันหรือแยกกัน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นภาษีอากรประเมิน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาตรา 65ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ในกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดสำหรับกรณีพิพาทจึงมี 2 รอบระยะเวลาบัญชีคือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 และอาจมีการดำเนินกิจการ มีผลประกอบการแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยเหตุนี้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีจึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกันได้ กล่าวคือ การคิดคำนวณรายได้และหักรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อหากำไรสุทธิจึงแยกต่างหากออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกจากกันได้การที่โจทก์รวมภาษีทั้ง 2 รอบระยะเวลาบัญชีมาเป็นจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาจึงไม่ถูกต้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลโดยแยกเป็นรอบระยะเวลาบัญชี จึงเป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ภาษีอากรจำนวน58,159,477.17 บาท แก่โจทก์ และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดจากต้นเงินภาษี 33,474,338.39 บาท และ6,628,840.68 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2542 ว่าตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินพบว่าจำเลยไม่ชำระภาษีหรือมีภาษีที่ต้องชำระในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และ 2539 ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินภาษีที่จำเลยต้องชำระแยกต่างหากจากกันได้จึงให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ก่อนจึงจะพิจารณาสั่งคำฟ้องต่อไป โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มพร้อมกับโต้แย้งคำสั่งศาลตามคำแถลงโจทก์ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2542ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยโดยนายเจริญ ปลื้มเกียรติชัยในฐานะผู้ชำระบัญชีชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 จำนวน 33,474,338.39 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 จำนวน 6,628,840.68 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวนดังกล่าว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าภาษีและเงินเพิ่มเมื่อคิดถึงวันฟ้องรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวน 58,159,477.17 บาทและเงินเพิ่มที่คำนวณได้ดังกล่าวข้างต้นต้องไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งและเมื่อคำนวณเงินเพิ่มเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งแล้วหรือจำเลยนำเงินค่าภาษีไปชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก่อนที่เงินเพิ่มจะมีจำนวนเท่ากับจำนวนค่าภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง ให้ยกเว้นเฉพาะเศษของบาทจากการคำนวณภาษีแก่จำเลย

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นอีก200,000 บาท นั้น ชอบหรือไม่ ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ในเนื้อหาแห่งคดีโดยตรง แต่โจทก์ได้ยกเหตุว่าค่าขึ้นศาลอันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายและโต้แย้งคำสั่งศาลแล้วจึงอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 มาตรา 226 และ 247 โจทก์อุทธรณ์ในประการแรกว่า ตามตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดค่าขึ้นศาลไว้ในตาราง 1 ให้คำฟ้องแต่ละฉบับเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในอัตรา 2.50 บาท ต่อทุกหนึ่งร้อยบาทแต่ไม่ให้เกิน 200,000 บาท คดีโจทก์คดีนี้เป็นคำฟ้องฉบับหนึ่งมีทุนทรัพย์เรียกร้องจำนวน 58,159,477.17บาท เมื่อคำนวณในอัตรา 2.50 บาทต่อทุก 100 บาท แล้วจะมีจำนวนเกิน200,000 บาท โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลไว้ในคำฟ้องจำนวน 200,000 บาทถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว ตามตาราง 1 กำหนดให้ชำระค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ในคำฟ้องมิได้กำหนดให้คำนวณค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังที่ศาลมีคำสั่งแต่ประการใด และโจทก์ยังอุทธรณ์ต่อไปว่าตามบทบัญญัติมาตรา 1(3) บทวิเคราะห์ศัพท์ว่าด้วย “คำฟ้อง” และมาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแสดงให้เห็นว่าคำฟ้องเป็นกระบวนพิจารณาที่เสนอข้อหาต่อศาลมิได้หมายถึงข้อหาใดข้อหาหนึ่ง คำฟ้องฉบับหนึ่งจึงอาจมีหลายข้อหาหรือหลายเรื่องได้หรือข้อหาเดียวกันแต่เกิดหลายครั้งต่างเวลาได้ เพื่อขอให้ศาลบังคับไปพร้อมกันทีเดียวโดยไม่ต้องฟ้องเป็นหลายคำฟ้องหรือหลายคดีแต่ถ้าศาลเห็นว่าข้อหาข้อหนึ่งข้อใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆ ศาลก็มีอำนาจสั่งให้แยกคดีได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องมาเป็นคำฟ้องฉบับเดียว การคิดค่าขึ้นศาลจึงต้องคำนวณจากจำนวนรวมในคำฟ้องทั้งหมดคดีเดียวคือจากจำนวน 58,159,477.17 บาทมิใช่คิดจากทุนทรัพย์เป็น 2 จำนวนตามรอบระยะเวลาบัญชี ดังที่ศาลมีคำสั่งเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในคดีนี้ต้องไม่เกิน 200,000 บาท การที่ศาลเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์เกินกว่า 200,000 บาท จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 150 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในการพิจารณาว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเท่าใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและบทบัญญัติที่โจทก์อ้างถึงคือตาราง 1 ข้อ (1) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าขึ้นศาลนั้น เป็นการวางหลักเกณฑ์ทั่วไปว่าด้วยการคิดค่าขึ้นศาลในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ว่า คำฟ้องในกรณีปกติให้เรียกค่าขึ้นศาลโดยอัตรา2.50 บาท ต่อทุก 100 บาท แต่ไม่ให้เกิน 200,000 บาท แม้ว่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทเมื่อคำนวณแล้วจะเกิน 200,000บาท ก็ตาม ซึ่งหามีบทบัญญัติบังคับว่า ในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท เท่านั้นไม่ แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน และบทบัญญัติว่าด้วยคำฟ้องตามมาตรา 1(3)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นบทวิเคราะห์ศัพท์ที่ให้ขอบเขตหรือความหมายของคำว่า คำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าคำฟ้องหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลโดยเมื่อพิจารณาประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 ที่โจทก์อ้างก็แสดงให้เห็นว่าในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อด้วยกันได้ และให้อำนาจแก่ศาลมีคำสั่งแยกคดีได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาหนึ่งข้อหาใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆ หรือแม้ว่าข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกัน แต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะเป็นการสะดวกศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าถ้าศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าเนื่องจากศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกัน หรือให้แยกคดีกัน คำฟ้องใดหรือข้อหาอันมีอยู่ในคำฟ้องใดจะต้องโอนไปยังศาลอื่นหรือจะต้องกลับยื่นต่อศาลนั้นใหม่ หรือต่อศาลอื่นเป็นคดีเรื่องหนึ่งต่างหากให้โจทก์ได้รับผ่อนผันไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในการยื่นหรือกลับยื่นคำฟ้องหรือข้อหาเช่นว่านั้นเว้นแต่จำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์แห่งคำฟ้องหรือข้อหานั้นจะได้ทวีขึ้นในกรณีเช่นนี้ค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะที่ทวีขึ้นให้คำนวณและชำระตามที่บัญญัติไว้ในวรรคก่อน ดังนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีที่มีหลายข้อหาย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปว่าเกี่ยวข้องกันหรือแยกกัน

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นภาษีอากรประเมิน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาตรา 65 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ในกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดสำหรับกรณีพิพาทจึงมี 2 รอบระยะเวลาบัญชีคือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539และอาจมีการดำเนินกิจการ มีผลประกอบการแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยเหตุนี้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีจึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกันได้ กล่าวคือ การคิดคำนวณรายได้และหักรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อหากำไรสุทธิจึงแยกต่างหากออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกจากกันได้ การที่โจทก์รวมภาษีทั้ง 2 รอบระยะเวลาบัญชีมาเป็นจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลโดยแยกเป็นรอบระยะเวลาบัญชีและโจทก์ได้ชำระค่าขึ้นศาลในภายหลังจากยื่นฟ้องจนครบถ้วน จึงเป็นการชอบแล้ว

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า ในอดีตก่อนจัดตั้งศาลภาษีอากรหรือเมื่อจัดตั้งศาลภาษีอากรแล้ว ไม่เคยมีปรากฏว่ามีคดีใดที่ศาลเรียกค่าขึ้นศาลโดยคิดคำนวณทุนทรัพย์ตามรอบระยะเวลาบัญชีแต่อย่างใดและศาลเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนซึ่งต้องดำเนินตามที่กฎหมายกำหนด การที่ศาลคิดค่าขึ้นศาลตามรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละรอบเช่นนี้ โจทก์เห็นว่าน่าจะไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมาย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่คิดจะมาใช้บริการศาลอันเป็นวิธีการทางกฎหมาย หากแต่จะหันไปใช้วิธีการนอกกฎหมายต่อไป เห็นว่า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลไม่ได้คิดค่าขึ้นศาลเป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ผูกพันต่อศาลที่จะวินิจฉัยว่าในการฟ้องคดีในแต่ละคดีนั้น การเสียค่าขึ้นศาลที่ถูกต้องควรเป็นเช่นใด ซึ่งศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามที่เห็นว่าถูกต้องตามกฎหมายดังที่วินิจฉัยมาแล้วได้ และศาลเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลไว้ ซึ่งศาลก็ยึดหลักการดังกล่าวเป็นสำคัญตลอดมาบนพื้นฐานแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลและความเป็นธรรมการที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวว่ามิได้เป็นไปตามกฎหมายนั้น จึงไม่ถูกต้อง และที่โจทก์เห็นไปถึงขนาดว่าสภาพสังคมจะกลับไปสู่ยุคตาต่อตาฟันต่อฟันเพราะเหตุนี้นั้นเป็นการคาดการณ์ที่เป็นผลร้ายต่อสังคมเกินไป

พิพากษายืน

Share