คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 336/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหลักกฎหมายทั่วไปไม่ว่าจะก่อนประมวลกฎหมายหรือภายหลังประมวลกฎหมายก็ดีเมื่อคนหนึ่งตายลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหลายของคนตายนั้นจะต้องตกทอดในที่สุดแม้จะไม่มีทายาท ก็จะต้องตกเป็นของรัฐ
ข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ทรัพย์สินเป็นของกลางโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้และไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ใครนั้นเป็นการเลิกล้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
ความสำคัญในเรื่องทรัสต์คือการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือสั่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปอยู่แก่ทรัสตีโดยมีเงื่อนไขคำมั่นมัดทรัสตีอยู่ว่าทรัสตีจะต้องถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเพื่อจัดการให้ผู้รับประโยชน์ได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ให้เป็นที่แน่นอน

คำสั่งในพินัยกรรมที่ว่า เมื่อญาติพี่น้องของผู้ตายคนใดจะมาอยู่อาศัยในที่ดินของผู้ตายก็อยู่ได้แต่ต้องขออนุญาตผู้ปกครองทรัพย์สินนั้นก่อนเมื่อผู้ปกครองทรัพย์เห็นสมควรอนุญาตให้แล้ว จึงจะอยู่ได้ดังนี้ได้ชื่อว่าการตั้งทรัสต์มิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์โดยแน่นอน เป็นการขาดหลักในเรื่องทรัสต์ที่ได้ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าพระอักษรสมบัติ (เปล่ง ธนโกเศศ) เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกบ้านเรือนและที่ดิน 3 โฉนดให้เป็นกองกลางระหว่างญาติจะได้อยู่อาศัย ห้ามมิให้ผู้จัดการมรดกหรือญาติพี่น้องคนใดเอาไปซื้อขาย,แลกเปลี่ยน,ยกให้หรือจำนำเป็นอันขาด และอนุญาตให้ญาติทุกคนมีสิทธิเข้าอยู่อาศัยได้โจทก์เป็นบุตรขุนธนโกเศศ (บ่าย) น้องร่วมบิดาเดียวกับพระอักษรสมบัติ เป็นผู้มีสิทธิจะเข้าอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินตามพินัยกรรม

จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องฐานกระทำผิดหน้าที่ไม่จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและจำเลยที่ 3 ได้ร้องสอดเป็นจำเลยร่วม จำเลยได้สมยอมกันแบ่งที่ดินมรดกให้จำเลยที่ 3 เป็นเนื้อที่ 30 ตารางวา และจะแบ่งบ้านและที่ดินที่เหลือเพื่อนำเงินมาแบ่งกันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพินัยกรรม จึงขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอม ซึ่งแบ่งกองมรดกให้จำเลยที่ 3 ห้ามผู้จัดการมรดกและจำเลยมิให้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด คงให้กองมรดกอยู่ในสภาพเดิม

จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิอาศัยตามพินัยกรรม

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถกำหนดตัวผู้มีสิทธิจะได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมเป็นการแน่นอน

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลแพ่งสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยที่ 1-2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าตามหลักกฎหมายทั่วไปไม่ว่าจะก่อนประมวลกฎหมายหรือภายหลังประมวลกฎหมายก็ดี เมื่อคนหนึ่งตายลง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมดของคนตายนั้น จะต้องตกทอด ในที่สุดแม้จะไม่มีทายาทก็จะต้องตกเป็นของรัฐ ข้อกำหนดที่ให้ทรัพย์สินเป็นของกลางโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ และไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ใครนั้น เป็นการเลิกจ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน อาจเป็นไปได้ในรูปกฎหมายของบ้านเมืองถ้าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญจึงได้มีการเลี่ยงจัดตั้งขึ้นในรูปทรัสต์ซึ่งกฎหมายของประเทศไทยก่อนใช้ประมวลกฎหมายได้รับรองบังคับให้เช่นกัน ความสำคัญในข้อแรกในเรื่องทรัสต์ ก็คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือสั่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปอยู่แก่ทรัสตีโดยมีเงื่อนไขคำมั่นมัดตรัสตีอยู่ว่าทรัสตีจะต้องถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เพื่อจัดการให้ผู้รับประโยชน์ได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จะต้องระบุไว้ให้เป็นที่แน่นอน ฉะนั้นคำสั่งในพินัยกรรมที่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ตกทอดไปยังผู้ใดนั้นหามีผลบังคับไม่โดยขัดกับหลักกฎหมายเรื่องกรรมสิทธิ์และไม่เป็นการก่อตั้งทรัสต์ อีกประการหนึ่งคำสั่งที่ว่าเพื่อญาติพี่น้องของพระอักษรสมบัติคนใดจะมาขออาศัยอยู่ก็ได้แต่ต้องขออนุญาตหลวงสุนทรภักดีและนางสาวหุ่นก่อนนั้น ศาลหามีอำนาจอาจเอื้อมไปบังคับหลวงสุนทรภักดีและนางสาวหุ่นให้เห็นชอบในการสมควรอนุญาตไม่ ดังนี้ญาติคนใดจะมีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินมรดกก็ได้ จึงไม่เป็นการแน่นอน ได้ชื่อว่าเป็นการก่อตั้งทรัสต์มิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์โดยแน่นอน เป็นการขาดหลักในเรื่องการตั้งทรัสต์ที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไปอีกประการหนึ่งและเห็นว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธิประการใดในทรัพย์มรดกของพระอักษรสมบัติไม่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องคดีนี้ได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share