แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การลดโทษ เพราะรับสารภาพชั้นสอบสวน ควรใช้กฎหมายในขณะกระทำผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2499 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 มีมีดดาบปลายปืน จำเลยที่ 2 มีไม้ และจำเลยที่ 3 มีมีดพก บังอาจสมคบกันตัดช่อง โดยถอดฝาไม้ขัดแตะล้วงถอดกลอนประตูเข้าไปในห้องเรียน อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายวาด ทวีแสง โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วบังอาจสมคบกันกระทำการเป็นโจรปล้นทรัพย์ สมคบกันลักเอาทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ตามบัญชีท้ายฟ้องของนายงาด และนางเสงี่ยม ทวีแสงสามีภรรยาไปคิดเป็นราคารวม 5,270 บาท ในการนี้จำเลยทั้งสามได้สมคบกันใช้กำลังทำร้ายโดยใช้มีดดาบปลายปืน และไม้เป็นสาตราวุธฟันและตีนายวาดมีบาดแผลถึงบาดเจ็บโลหิตไหล และใช้เท้าเตะนางเสงี่ยมไม่ถึงบาดเจ็บดังใบชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง เพื่อความสะดวกในการที่จำเลยจะลักทรัพย์เพื่อจะเอาทรัพย์ และเพื่อให้ส่งทรัพย์แก่จำเลยเหตุเกิดที่ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้ และได้ดาบปลายปืน 1 เล่ม และมีดพก 1 เล่ม ที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญาร.ศ.127 มาตรา 301, 63 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4) มาตรา 7 ให้จำเลยใช้ทรัพย์ 5,270 บาทแก่เจ้าทรัพย์ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 301 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2477 มาตรา 7 และประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 340 แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127มาตรา 301 ที่แก้ไขแล้ว อันเป็นคุณแก่จำเลย เพราะมีโทษเบากว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2 ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วางโทษจำคุกจำเลยคนละ 12 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนดคนละแปดปี ให้จำเลยช่วยกันใช้ราคาทรัพย์ห้าพันสองร้อยเจ็ดสิบบาทแก่เจ้าทรัพย์ และให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาฟังแถลงการณ์และประชุมปรึกษาเห็นว่า ข้อเท็จจริงคงฟังได้เป็นเบื้องต้นว่า ในคืนที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดนั้นในโรงที่อยู่ของเจ้าทรัพย์ นางเสงี่ยมภรรยาและบุตรนอนหลับอยู่ในห้อง ส่วนนายวาดสามีนอนหลับอยู่นอกห้อง ได้มีคนร้ายล้วงถอดกลอนประตูเข้าไปในโรง 3 คน และกระทำการปล้นทรัพย์ของนายวาดและนางเสงี่ยมไป คนร้ายมีสาตราวุธมีดและไม้ ได้กระทืบและตีนายวาด แล้วทับตัวนายวาดไว้ไม่ให้ลุกขึ้น ให้บอกที่เก็บทรัพย์ ทั้งได้เอาปืนสั้นของเจ้าทรัพย์ไปถือไว้ ครั้นนางเสงี่ยมร้องถามว่าอะไรกัน คนร้ายสองคนได้เข้าไปในห้องเอามือยันคอนางเสงี่ยมถามหาทรัพย์ ได้ใช้เท้าเตะและนั่งทับนางเสงี่ยมไว้ คนร้ายเอาทรัพย์ในห้องและนอกห้องไปตามบัญชีท้ายฟ้อง นายวาดยืนยันว่า จำจำเลยทั้งสามได้ ส่วนนางเสงี่ยมจำคนร้ายสองคนที่เข้าไปในห้องได้ คือ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่จำได้โดยอาศัยแสงตะเกียงซึ่งจุดไว้มีแสงสว่างทั้งนอกห้องและในห้อง ห้องมีแต่ช่องประตูไม่มีบานประตู จำเลยทั้งสามนี้เป็นคนรู้จักมาก่อน นายวาดได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจระบุชื่อจำเลยทั้งสามในคืนนั้นเอง รองสารวัตรตำรวจได้ไปบ้านกำนันให้กำนันพาตำรวจไปจับจำเลย และได้ตัวจำเลยในเช้านั้น นอกจากนี้โจทก์นำสืบว่า ชั้นสอบสวนตอนแรกจำเลยที่ 2-3 ปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 1 รับสารภาพ แต่ครั้นเมื่อให้เซ็นชื่อในคำให้การจำเลยที่ 1 ไม่ยอมเซ็นทำเป็นคนคล้ายคนวิกลจริต ได้ส่งจำเลยทั้งสามไปกองสันติบาล ได้ทดสอบเครื่องจับเท็จจำเลยที่ 2-3เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจำเลยที่ 2-3 กระทำผิด จำเลยที่ 2-3 ก็ให้การรับสารภาพ และได้บันทึกถ้อยคำให้เซ็นชื่อไว้ ส่วนจำเลยที่ 1 ทำเป็นเสียสติพูดจาเลอะเทอะไม่ยอมรับการทดสอบ
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำพยานโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามเคยรับจ้างทำสวน เจ้าทรัพย์สามีภรรยารู้จักมาก่อน เวลาเกิดเหตุมีแสงตะเกียงและอยู่ที่เจ้าทรัพย์นานพอมีโอกาสจำได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะปรักปรำแก่จำเลยนางเสงี่ยมไม่เห็นจำเลยที่ 2ก็ว่าไม่เห็น แม้จะมีประจักษ์พยานแต่นายวาดคนเดียวที่จำจำเลยที่ 2 ได้ก็ดีแต่ที่จำจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ประกอบสมกับนางเสงี่ยมภรรยา ควรเชื่อได้ว่าจำจำเลยที่ 2 ได้เช่นเดียวกัน ที่จำเลยที่ 2-3 ว่า ถูกบังคับให้รับชั้นสอบสวนนั้น หากถูกบังคับจริง ก็น่าที่จำเลยที่ 1 จะถูกบังคับด้วย แม้ตามคำฟ้องจะกล่าวถึงอาวุธที่จำเลยมีไปสมกับคำพยานโจทก์บ้าง ก็เป็นเพียงข้อพลความ หาเป็นเหตุถึงกับให้ยกฟ้องได้ไม่ ที่จำเลยเสนอสำเนาคำร้องเรียนของพลตำรวจ อุดม ปิ่นเจริญต่ออธิบดีกรมตำรวจมาในชั้นฎีกา ก็เป็นหนังสือที่พลตำรวจ อุดมได้ทำขึ้นเมื่อพลตำรวจ อุดมถูกขังในเรือนจำแล้ว หาเป็นหลักฐานที่จะหักล้างพยานโจทก์ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อต่าง ๆ ที่จำเลยกล่าวมาในฎีกา ไม่เป็นเหตุเพียงพอกลับสัตย์ศาลล่าง
แต่ดาบปลายปืนและมีดของกลางที่ได้มาจากบ้านจำเลยที่ 3 นั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยรับว่าของกลางนี้ คือ ของที่ได้ใช้ในการกระทำผิดและพยานโจทก์ก็ไม่มีพอที่จะฟังได้ ไม่ควรริบ
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 นั้นไม่ถูกต้อง ควรใช้กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำผิด คือกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 59
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลล่าง ให้ยกเฉพาะข้อที่ให้ริบของกลางนั้นเสีย ให้คืนของกลางแก่จำเลยที่ 3 และให้ใช้กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 เป็นบทลดโทษ