แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับและค้นห้องพักของจำเลยในยามวิกาลโดยไม่มีหมายจับและหมายค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกา
เจ้าพนักงานตำรวจได้สืบทราบมาก่อนว่า จำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน วันเกิดเหตุ (1 พฤษภาคม 2540)ร้อยตำรวจเอก ศ. กับพวก ได้วางแผนจับกุมโดยไปซุ่มดูพฤติการณ์ของจำเลย เห็นรถบรรทุกสิบล้อประมาณ 3 ถึง 4 คัน ขับมาจอดที่หน้าร้านจำเลยโดยไม่ได้เติมน้ำมันแล้วคนขับรถบรรทุกสิบล้อเข้าไปส่งธนบัตรให้จำเลย จำเลยเอี้ยวตัวไปหยิบสิ่งของจากชั้นวางของด้านหลังส่งให้เชื่อว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้คนขับรถบรรทุกสิบล้อ ร้อยตำรวจเอก ศ. จึงเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานป.ป.ส. ขอตรวจค้นที่ชั้นวางของเป็นจุดแรก พบเมทแอมเฟตามีน2 เม็ด อยู่ใต้กล่องยากันยุงบนชั้นวางของใกล้กับที่นั่งของจำเลยกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในห้องพักอันเป็นที่รโหฐาน ประกอบมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากไม่ดำเนินการทันทียาเสพติดอาจถูกโยกย้าย ร้อยตำรวจเอก ศ. จึงมีอำนาจตรวจค้นเคหสถานและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในเวลากลางคืนหลังจากพระอาทิตย์ตกดินได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพ.ศ. 2519 มาตรา 14 ทั้งจำเลยก็ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นแต่โดยดีสิ่งของที่ค้นได้ทั้งหมดรวมทั้งที่ค้นได้จากในห้องพักของจำเลยจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ กรณีไม่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุที่ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92(1) ถึง (5)หรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.14 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายและยึดได้หลอดกาแฟ 12 หลอด หลอดกาแฟตัดเป็นท่อนรวม13 ท่อน เทียนไข 1 เล่ม อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยมีไว้ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง เมทแอมเฟตามีนของกลางหมดไปในการตรวจวิเคราะห์ ส่วนของกลางอื่นเจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33และริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งให้จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังได้เป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านอาหารโกแดงเมืองตรังของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมันดอนกลางออยล์ พบเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ดบรรจุอยู่ในหลอดกาแฟปิดหัวท้ายซุกซ่อนอยู่ใต้กล่องยากันยุงบนชั้นวางของใกล้กับที่จำเลยนั่งและตรวจค้นห้องพักของจำเลยพบหลอดกาแฟสีขาวที่ยังไม่ได้ตัด 12 หลอด หลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อน ๆ แล้ว 13 ท่อน เทียนไขใช้แล้ว 1 เล่ม และธนบัตรจำนวน26,000 บาทเศษ จึงยึดไว้เป็นของกลาง จำเลยรับว่าของกลางดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกศรายุทธคงทอง และสิบตำรวจตรีโดม ฤทธิเดช เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่าก่อนทำการจับกุมประมาณ 1 เดือน ได้สืบทราบมาก่อนว่า จำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามรายงานเอกสารหมาย จ.1 วันเกิดเหตุได้วางแผนจับกุมโดยไปซุ่มดูพฤติการณ์ของจำเลยห่างจากร้านจำเลยประมาณ 30 เมตร เห็นรถบรรทุกสิบล้อประมาณ 3 ถึง 4 คัน ขับมาจอดที่หน้าร้านจำเลยโดยไม่ได้เติมน้ำมัน แล้วคนขับรถบรรทุกสิบล้อเข้าไปส่งธนบัตรให้จำเลยแล้วจำเลยเอี้ยวตัวไปหยิบสิ่งของจากชั้นวางของด้านหลังส่งให้ เชื่อว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้คนขับรถบรรทุกสิบล้อจึงเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และร้อยตำรวจเอกศรายุทธได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ขอตรวจค้นและพบของกลางดังกล่าว ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยนางเฉลียว ทองใบ ภรรยาของจำเลยและนางหม่อน ศิริพรรณ ลูกจ้างของจำเลยเบิกความว่า เมทแอมเฟตามีน2 เม็ด ของกลาง จำเลยมีไว้เพื่อเสพแก้ง่วงนอน หลอดกาแฟที่ยังไม่ได้ตัดไว้ใช้สำหรับดื่มเครื่องดื่ม หลอดกาแฟที่ตัดแล้วเป็นหลอดกาแฟที่ใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีน จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วทิ้งไว้เทียนไขไว้ใช้จุดเมื่อไฟฟ้าดับ ส่วนธนบัตรจำเลยได้มาจากการขายอาหารและเก็บไว้เป็นค่าเช่าร้านและค่าจ้างลูกจ้าง เห็นว่า จำเลยเบิกความรับว่าร้อยตำรวจเอกศรายุทธกับพวกได้ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน2 เม็ด ที่ชั้นวางของ หลังจากนั้นจึงได้ไปค้นห้องพักของจำเลยจึงน่าเชื่อว่าร้อยตำรวจเอกศรายุทธและสิบตำรวจตรีโดมเห็นจำเลยหยิบสิ่งของจากชั้นวางของส่งให้คนขับรถบรรทุกสิบล้อ 3 ถึง 4 คนจริงจึงได้ทำการตรวจค้นที่ชั้นวางของเป็นจุดแรก ส่วนหลอดกาแฟจำนวน12 หลอด และหลอดกาแฟที่ตัดเป็นท่อน ๆ แล้ว 13 ท่อน ที่พบในห้องพักของจำเลยก็เป็นชนิดและสีเดียวกันกับหลอดที่ใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีนที่พบนชั้นวางของ ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะทิ้งหลอดที่ใช้แล้วไว้ในห้องพักก่อนทำการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้เฝ้าดูพฤติการณ์ของจำเลยมาก่อนและพบว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง ตามรายงานข่าวสารเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองอย่างใดกับจำเลย พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลเพียงพอฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับและค้นห้องพักของจำเลยในยามวิกาลโดยไม่มีหมายจับและหมายค้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกา และเห็นว่าในการจับกุมและตรวจค้นดังกล่าว มีร้อยตำรวจเอกศรายุทธเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากค้นพบเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด อยู่ใต้กล่องยากันยุงบนชั้นวางของใกล้กับที่นั่งของจำเลย กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในห้องพักอันเป็นที่รโหฐานนั้นประกอบมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากไม่ดำเนินการทันทียาเสพติดอาจถูกโยกย้าย เมื่อร้อยตำรวจเอกศรายุทธได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ให้จำเลยดูแล้วร้อยตำรวจเอกศรายุทธจึงมีอำนาจตรวจค้นเคหสถานและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในเวลากลางคืนหลังจากพระอาทิตย์ตกดินได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519มาตรา 14 ทั้งจำเลยก็ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นแต่โดยดีการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ค้นได้จึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่า มีเหตุที่ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92(1) ถึง (5) ตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่
พิพากษายืน