คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6140/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางทะเลตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) ที่ทำกับผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่ง สิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้รับตราส่งจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ทั้งนี้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และถือว่าสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เริ่มตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 1 รับสินค้าไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 4 ผู้ประกอบการโรงพักสินค้าตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ประกอบมาตรา 40 (3) ซึ่งเมื่อรับสินค้าที่ท่าเรือต้นทางจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งโดยมิได้บันทึกสภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอกไว้ในใบตราส่งจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 รับสินค้าที่มีสภาพภายนอกเรียบร้อยไว้เพื่อการขนส่ง ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเมื่อเรือมาถึงท่าเรือของจำเลยที่ 4 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีการบันทึกไว้ที่มุมล่างขวาของ “Time Sheet” ว่าสินค้าได้รับการขนถ่ายขึ้นจากเรือตามสภาพที่บรรทุกลงเรือโดยไม่มีการสำรวจความเสียหายของสินค้าหรือมีการบอกกล่าวเป็นหนังสือจากผู้รับตราส่งถึงจำเลยที่ 1 ว่า สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายภายในเวลาตามที่บัญญัติในมาตรา 49 (1) และ (2) จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามสภาพที่ระบุไว้ในใบตราส่งและโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าเหตุที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางถนนจากท่าเรือของจำเลยที่ 4 ไปยังโรงงานของบริษัท พ. ที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นผู้ขนส่งและผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยรับขนของ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้า หากเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 618 อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 บัญญัติว่า “ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของสูญหายหรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายในแปดวันนับแต่วันส่งมอบ อนึ่ง บทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้” และแม้จำเลยที่ 5 จะให้การถึงเหตุที่ความรับผิดของผู้ขนส่งสิ้นสุดลงดังกล่าวเพียงคนเดียว แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อาจต้องรับผิดร่วมกันเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ กระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 5 ให้การไว้ เมื่อมิได้ทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถือว่าการที่จำเลยที่ 5 ให้การนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 5 ได้ทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อสภาพความเสียหายของสินค้าไม่สามารถเห็นได้จากสภาพภายนอกเช่นนี้ ผู้รับตราส่งจะต้องบอกกล่าวเรื่องความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ภายในแปดวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 แล้วแต่กรณีส่งมอบสินค้า มิฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมสิ้นสุดลง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 5 ระหว่างวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 ตามลำดับ และจำเลยที่ 5 ส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งที่โรงงานของบริษัท พ. เมื่อวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 ตามลำดับ ระยะเวลา 8 วัน ที่ผู้รับตราส่งจะต้องบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในเรื่องความเสียหายของสินค้าจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5, 6 และ 8 มิถุนายน 2553 ตามลำดับ เมื่อผู้รับตราส่งไม่ได้บอกกล่าวภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น จึงต้องถือว่าความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้สิ้นสุดลงแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งคดีไม่มีประเด็นเรื่องการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งจะเนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 751,786.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 722,680.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งรับฟังได้เป็นยุติว่า บริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ซื้อสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนจำนวน 12 ม้วน น้ำหนักรวม จำนวน 208.210 เมตริกตัน จากบริษัทโพสโค จำกัด ผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยข้อตกลงการซื้อขายแบบ ซีเอฟอาร์ แหลมฉบัง สินค้าได้รับการหีบห่อมีลักษณะตามภาพถ่าย บริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ทำสัญญาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์ ต่อมาผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าทางทะเลตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) จำเลยที่ 1 ออกใบตราส่ง สินค้าได้รับการบรรทุกลงเรือซีเบรฟ และเดินทางถึงท่าเรือของจำเลยที่ 4 ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 เวลา 16 นาฬิกา ตามใบแจ้งเรือเทียบท่าสินค้าซึ่งบรรจุมาในระวางเรือหมายเลข 1 ถึง 5 ได้รับการขนถ่ายขึ้นจากเรือซีเบรฟ ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 เวลา 18 นาฬิกา ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เวลา 24 นาฬิกา สินค้าทั้งหมดถูกวางไว้ที่ลานวางสินค้าหนักหน้าโรงพักสินค้าที่ 7 ของจำเลยที่ 4 สินค้าได้รับการดำเนินพิธีการศุลกากรเสร็จได้รับใบขนสินค้าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 บริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าทางถนน จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายจำเลยที่ 3 ให้ขนส่งและจำเลยที่ 3 ได้มอบหมายจำเลยที่ 5 ให้ขนส่งต่อ โดยจำเลยที่ 5 นำรถบรรทุก 10 ล้อ หมายเลขทะเบียน 70-7222 ระยอง, 70-6634 ระยอง, 70-3142 ระยอง และ 70-7260 ระยอง ไปบรรทุกสินค้าเพื่อขนส่งไปยังโรงงานของบริษัทพิทักษ์โลหะ จำกัด ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีการขนส่งในวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 สินค้าถูกเก็บไว้ที่โรงงานของบริษัทพิทักษ์โลหะ จำกัด โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับบำเหน็จค่าฝากเก็บ และค่าขนส่งแล้วและใบรับจ้างขนส่งสินค้าตามลำดับ จนกระทั่งวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 บริษัทพิทักษ์โลหะ จำกัด ได้แก้หีบห่อและเปิดม้วนสินค้าออกตัดเพื่อนำไปใช้งานตามที่ได้รับคำสั่งจากบริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด แต่พบว่าสินค้าทั้ง 12 ม้วน เกิดสนิมจนได้รับความเสียหาย เมื่อทดสอบในห้องปฏิบัติการได้ผลว่าสนิมเกิดจากน้ำ (Fresh Water) และ “Test Report”
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า เหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางทะเลตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) ที่ทำกับบริษัทโพสโค จำกัด ผู้ขาย และจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่ง สิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้รับตราส่ง จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางถนนจากท่าเรือของจำเลยที่ 4 ไปยังโรงงานของบริษัทพิทักษ์โลหะ จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยรับขนของ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ประกอบการโรงพักสินค้าที่รับสินค้าไว้จากผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้าและส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 4 จึงเป็นผู้รับเก็บรักษาสินค้าไว้ในความดูแลของตนในระหว่างรอการส่งมอบ ในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น ถือว่าสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เริ่มตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 1 รับสินค้าไว้จากบริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ส่งของจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 4 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ประกอบมาตรา 40 (3) ซึ่งเมื่อรับสินค้าที่ท่าเรือต้นทางจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่ง โดยมิได้บันทึกสภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอกไว้ในใบตราส่ง จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 รับสินค้าที่มีสภาพภายนอกเรียบร้อยไว้เพื่อการขนส่งตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และ เมื่อเรือมาถึงท่าเรือของจำเลยที่ 4 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 มีการบันทึกไว้ที่มุมล่างขวาของ “Time Sheet” ว่าสินค้าได้รับการขนถ่ายขึ้นจากเรือตามสภาพที่บรรทุกลงเรือ โดยไม่มีการสำรวจความเสียหายของสินค้าหรือมีการบอกกล่าวเป็นหนังสือจากบริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้รับตราส่งถึงจำเลยที่ 1 ว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายภายในเวลาตามที่บัญญัติในมาตรา 49 (1) และ (2) จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามสภาพที่ระบุไว้ในใบตราส่งและโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่า เหตุที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 แต่พยานหลักฐานของโจทก์ตามคำเบิกความของนายกฤษฎา พนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายบริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด ประกอบรายงานการสำรวจความเสียหาย คงได้ความเพียงว่า สินค้าสัมผัสกับน้ำ และเป็นเหตุให้สินค้าได้รับความเสียหาย ไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์แสดงให้เห็นว่าสินค้าได้รับความเสียหายเพราะสัมผัสกับน้ำระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีนายไพจิตร มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า พยานเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งมาโดยเรือซีเบรฟ (Sea Brave) พบว่าสินค้ามีสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยการฉีดขาด เปียกน้ำ หรือเป็นสนิม เมื่อพิจารณาประกอบกับ “Time Sheet” ที่ระบุว่า สินค้าที่ได้รับความเสียหายขนส่งโดยบรรทุกไว้ในระวางเรือที่มีฝาปิด (Hatch) รวมจำนวน 5 ระวาง ทั้งเมื่อเกิดฝนตกในระหว่างการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือก็ได้หยุดพักการขนถ่ายไว้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เหตุแห่งความเสียหายของสินค้ามิได้เกิดในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า
สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งและผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยรับขนของ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้า หากเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของตนตามมาตรา 616 และ 618 อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 บัญญัติว่า ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อนและได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว
แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของสูญหายหรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายในแปดวันนับแต่วันส่งมอบ
อนึ่ง บทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้” และแม้จำเลยที่ 5 จะให้การถึงเหตุที่ความรับผิดของผู้ขนส่งสิ้นสุดลงดังกล่าวเพียงคนเดียว แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อาจต้องรับผิดร่วมกันเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ กระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 5 ให้การไว้ดังกล่าวเมื่อมิได้ทำให้เสื่อมเสียสิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถือว่าการที่จำเลยที่ 5 ให้การนั้น เป็นกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 5 ได้ทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) เมื่อสภาพความเสียหายของสินค้าไม่สามารถเห็นได้จากสภาพภายนอกเช่นนี้ บริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด จะต้องบอกกล่าวเรื่องความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ภายใน 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 แล้วแต่กรณีส่งมอบสินค้า มิฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ย่อมสิ้นสุดลง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 5 ระหว่างวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 ตามลำดับ และจำเลยที่ 5 ส่งมอบสินค้าแก่บริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ที่โรงงานของบริษัทพิทักษ์โลหะ จำกัด เมื่อวันที่ 28, 29 และ 31 พฤษภาคม 2553 ตามลำดับ ระยะเวลา 8 วัน ที่บริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด จะต้องบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในเรื่องความเสียหายของสินค้าจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 5, 6 และ 8 มิถุนายน 2553 ตามลำดับ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทโพสโค (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ได้บอกกล่าวภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น จึงต้องถือว่าความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้สิ้นสุดลงแล้วตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ว่า ระยะเวลา 8 วัน ต้องนับแต่วันที่พบความเสียหายไม่ใช่นับแต่วันที่ส่งมอบฟังไม่ขึ้น ทั้งคดีไม่มีประเด็นเรื่องการทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งจะเนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์เรื่องเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า เหตุที่สินค้าที่ขนส่งถูกน้ำจนได้รับความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีนายกฤษฎา มาเบิกความเป็นพยานประกอบรายงานการสำรวจความเสียหายว่า ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 สินค้าวางอยู่กลางแจ้งที่ท่าเรือของจำเลยที่ 4 เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรและส่งมอบขั้นสุดท้าย ตัวแทนที่ดำเนินพิธีการศุลกากรแจ้งว่า สินค้าถูกเก็บโดยไม่มีสิ่งป้องกัน ปล่อยให้ตากแดดตากฝน จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าระหว่างที่สินค้าวางกลางแจ้งที่ท่าเรือของจำเลยที่ 4 สินค้าถูกน้ำฝน แต่พยานเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่า การวินิจฉัยของพยานตามรายงานการสำรวจความเสียหาย เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและตามหนังสือแถลงข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากรระบุว่า สินค้าคลุมผ้าใบยางขัดแย้งกับพยานหลักฐานของโจทก์ และกลับเจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีนายบรรพต เจ้าหน้าที่คลังสินค้าบริษัทจำเลยที่ 4 เบิกความว่า ได้นำสินค้าไปเก็บที่ลานหน้าคลังสินค้าหมายเลข 7 โดยใช้ขอนไม้รองใต้สินค้าเพื่อป้องกันการถูกน้ำที่ไหลตามพื้น และใช้ผ้าใบทาร์โปลินปิดคลุมสินค้าเพื่อป้องกันฝนที่อาจตกลงมาไม่ให้ถูกสินค้า ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้องสามารถป้องกันสินค้าไม่ให้ถูกน้ำได้แน่นอน ทั้งนายกฤษฎาพยานโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านอีกว่า ระหว่างที่สินค้าวางอยู่ที่ลานวางสินค้าของจำเลยที่ 4 ไม่มีฝนตก พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งถูกน้ำระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ดังนี้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share