คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 3 กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในข้อเดียวกันนั้นว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายไปแล้ว ให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้จัดการศพปกครองทรัพย์และจัดการในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตาย แม้จะมีคำว่าข้าพเจ้าเต็มใจยกให้จำเลยทั้งสี่ แต่ก็มีข้อความติดต่อเกี่ยวเนื่องกันต่อไปว่า เป็นผู้ปกครองทรัพย์ของข้าพเจ้า ข้อความต่อไปที่ว่า นอกจากจำเลยทั้งสี่ที่ระบุนามในหนังสือนี้แล้ว ผู้อื่นไม่มีสิทธิจะปกครองทรัพย์ของข้าพเจ้าเป็นอันขาด ก็มีความหมายเป็นในเรื่องการปกครองทรัพย์เช่นเดียวกับข้อความในตอนแรก ต่างกับข้อความที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และ 2 แห่งพินัยกรรมฉบับเดียวกันซึ่งมีข้อความกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่า ได้ยกทรัพย์สิ่งใดให้แก่บุคคลใดโดยระบุชื่อไว้อย่างชัดแจ้ง ไม่มีข้อความต่อไปว่า ยกให้ปกครองและจัดการดังที่กล่าวไว้ในข้อ 3 ส่วนข้อความต่อไปที่ว่าทรัพย์สินที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้และมิได้ระบุให้เป็นอำนาจของจำเลยทั้งสี่จัดการโดยเด็ดขาด หากเห็นว่าควรจะยกให้แก่ผู้ใดก็ให้ดำเนินการได้ตามความประสงค์ถ้าไม่เห็นสมควรประการใด ก็แล้วแต่จำเลยทั้งสี่จะจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ทั้งสิ้นนั้น ข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่จะยกทรัพย์ตามพินัยกรรมให้แก่บุคคลใด มากน้อยก็สุดแล้วแต่ใจของจำเลยทั้งสี่ กล่าวคือ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสี่ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจจะทราบตัวแน่นอนได้ เป็นผู้รับพินัยกรรม และเป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลใดยกทรัพย์สินมากน้อยเท่าใดก็ได้ตามแต่ใจของบุคคลนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706
ข้อความในพินัยกรรมกล่าวแต่เพียงว่า บุคคลอื่นแม้จะเกี่ยวเป็นญาติพี่น้องลูกหลานของข้าพเจ้าไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์หรือปกครองทรัพย์ของข้าพเจ้าเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดหรือในที่ใดระบุไว้ชัดแจ้งว่า ตัดนาง ย.หรือโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางย. มิให้รับมรดก ฉะนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของนาง ย. ซึ่งเป็นพี่ของนาง บ. จึงมีสิทธิรับมรดกของนาง บ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางบัวจันทร์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางย่นมารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนนางบัวจันทร์ นางบัวจันทร์ ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้นายสังคมกับนางพิมลวรรณไปส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งและทรัพย์ที่มิได้ระบุ และทรัพย์สินที่นางบัวจันทร์หาได้ในระหว่างมีชีวิต มิได้ยกให้แก่ผู้ใด แต่ทำพินัยกรรมกำหนดให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ปกครองและจัดการไปตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสี่ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทรัพย์ตามพินัยกรรมข้อ 3 จึงตกได้แก่โจทก์ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นางย่นจำเลยทั้งสี่ยื่นคำขอรับมรดกที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ที่ดินโฉนดที่ 59 และ 60 ซึ่งเป็นทรัพย์ตามพินัยกรรมข้อ 3 ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของโจทก์ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกนางบัวจันทร์เจ้ามรดกตัดมิให้รับมรดกเจ้ามรดกแสดงเจตนายกทรัพย์มรดกตามข้อ 3 แห่งพินัยกรรมให้แก่จำเลยทั้งสี่ข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่เป็นโมฆะ ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เป็นว่าโจทก์มีสิทธิรับมรดกนางบัวจันทร์ ฯลฯ

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 3 ดังกล่าวได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในข้อเดียวกันนั้นว่า เมื่อตนได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ให้บุคคลทั้งสี่ที่กล่าวนามคือ จำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นผู้จัดการศพ ปกครองทรัพย์ และจัดการในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตาย แม้จะมีคำว่าข้าพเจ้าเต็มใจยกให้จำเลยทั้งสี่ แต่ก็มีข้อความติดต่อเกี่ยวเนื่องกันต่อไปว่าเป็นผู้ปกครองทรัพย์ของข้าพเจ้า ข้อความต่อไปที่ว่านอกจากบุคคลทั้งสี่ที่ได้ระบุนามในหนังสือนี้แล้ว ผู้อื่นไม่มีสิทธิจะปกครองทรัพย์ของข้าพเจ้าเป็นอันขาด ก็มีความหมายเป็นในเรื่องการปกครองทรัพย์เช่นเดียวกับข้อความในตอนแรก ต่างกับข้อความที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และ 2 แห่งพินัยกรรมฉบับเดียวกัน ซึ่งมีข้อความกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่า ได้ยกทรัพย์สิ่งใดให้แก่บุคคลใด โดยระบุชื่อไว้อย่างชัดแจ้งไม่มีข้อความต่อไปว่า ยกให้ปกครองและจัดการดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 3 ส่วนข้อความต่อไปที่ว่าทรัพย์สินที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้และมิได้ระบุให้เป็นอำนาจของบุคคลทั้งสี่ออกนามมาแล้วจัดการโดยเด็ดขาด หากเห็นว่าควรจะยกให้แก่ผู้ใดก็ให้ดำเนินการได้ตามความประสงค์ ถ้าไม่เห็นสมควรประการใดก็แล้วแต่บุคคลทั้งสี่จะจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ทั้งสิ้น ซึ่งจำเลยฎีกามาว่าเป็นการแสดงเจตนาของผู้ตายว่า ประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อความดังกล่าวแล้ว ก็เป็นที่เห็นชัดอยู่ว่า การที่จะยกทรัพย์ตามพินัยกรรมให้แก่ผู้ใด มากน้อยเพียงใด ก็สุดแล้วแต่ใจของจำเลยทั้งสี่กล่าวคือ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยทั้งสี่ ข้อกำหนดดังกล่าวนี้จึงเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจจะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม และเป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลใดกำหนดยกทรัพย์สินให้มากน้อยเท่าใดก็ได้ตามแต่ใจของบุคคลนั้น ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 บัญญัติว่า ข้อกำหนดดังว่านี้เป็นโมฆะ หามีผลบังคับตามกฎหมายแต่ประการใดไม่

ฎีกาจำเลยอีกข้อหนึ่งว่า ข้อความในตอนต้นของพินัยกรรมได้ตัดทายาทโดยธรรมทั้งหมดมิให้ได้รับมรดก นางย่นหรือโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 บัญญัติว่า เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้งและในวรรคสุดท้ายแห่งมาตราเดียวกันนี้ยังบัญญัติไว้อีกด้วยว่า”ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้น ต้องระบุไว้ให้ชัดเจน” ตามข้อความในพินัยกรรมคงกล่าวแต่เพียงว่า บุคคลอื่นแม้จะเกี่ยวเป็นญาติพี่น้องลูกหลานของข้าพเจ้า ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์หรือปกครองทรัพย์ของข้าพเจ้าเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดหรือในที่ใดระบุไว้ชัดแจ้งว่า ตัดนางย่นหรือโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางย่นมิให้รับมรดก ฉะนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของนางย่นจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนางบัวจันทร์

พิพากษายืน

Share