คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 3 กำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินแปลงใด ย่อมทำให้สิทธิต่าง ๆที่เกิดจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวถูกจำกัดตัดรอน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อยู่ในขณะดำเนินการสำรวจเพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงหรือผู้ที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาภายหลังดำเนินการสำรวจแล้วก็ถูกจำกัดตัดรอนสิทธิเหมือนกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทน การใช้ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม และโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะเข้าไปใช้ที่ดินพิพาท โจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30(1) และมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511มาตรา 30 มีเจตนารมณ์เหมือนกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเพียงแต่พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511มาตรา 30 ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังนี้ การที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2511 มาตรา 30 จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47810มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2ด้วยการจดทะเบียนขายฝากที่ดิน มีกำหนด 1 ปี ในราคารับซื้อฝากเป็นเงิน 1,330,000 บาท เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2536 ต่อมาเมื่อครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มาทำการไถ่ถอนการขายฝากที่ดินจากโจทก์ ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2537 เป็นต้นมา ต่อมาประมาณปี 2539 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์พาดผ่านที่ดินของโจทก์ โจทก์ได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3จึงทราบว่าจำเลยที่ 3 เคยมีหนังสือชี้แจงแก่เจ้าของที่ดินและผู้ครอบครองถึงข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า การกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า ข้อห้ามกระทำการต่าง ๆ ในเขตเดินสายไฟฟ้า และการกำหนดเงินค่าทดแทน และยังแจ้งให้โจทก์ทราบอีกว่าจำเลยที่ 3ได้เคยออกสำรวจประเมินราคาสภาพแห่งที่ดินของโจทก์ที่ถูกสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดเงินค่าทดแทนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2536 จากการสำรวจที่ดินดังกล่าว ที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นที่นา ถูกสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านไม่สามารถทำประโยชน์บนที่ดินได้คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 งาน 17.5 ตารางวา และคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ ของจำเลยที่ 3 มีมติให้จ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 50 ของราคาประเมินที่ดิน ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินไร่ละ 400,000 บาท คิดเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 258,750 บาท โดยจำเลยที่ 3 จะจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเจ้าของที่ดินเดิมเท่านั้นแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากจำเลยที่ 3ทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้ปฏิเสธสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิในที่ดิน และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าทดแทนแก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียวโดยโจทก์สงวนสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ไม่เป็นธรรมไว้ด้วย จำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือแล้ว ได้มีหนังสือตอบปฏิเสธมายังโจทก์ เงินค่าทดแทนจำนวน 258,750 บาทนั้น ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ที่ดินตามฟ้องของโจทก์ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่สามารถก่อสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรมได้ และโจทก์จะไปลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมบนที่ดินแปลงดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหายและขาดประโยชน์จากการถูกรอนสิทธิ โจทก์จึงขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามเป็นเงิน 2,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินค่ารอนสิทธิแก่โจทก์ 400,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีก 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละอย่างนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2หรือจำเลยที่ 3 จะชำระเงินเสร็จ

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เดิมเป็นของจำเลยที่ 1และที่ 2 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 3 เข้าสำรวจเพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงช่วงไทรน้อย-หนองจอก ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน17.5 ตารางวา วันที่ 7 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 ไว้แก่โจทก์โดยมิได้ไถ่ถอนภายในกำหนด จำเลยที่ 3จะจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทซึ่งถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านให้แก่เจ้าของที่ดินโดยถือราคาที่กำหนดในบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2538 ในราคาไร่ละ 400,000 บาทเป็นฐานในการคำนวณโดยจะจ่ายให้ร้อยละ 50 ของราคาดังกล่าว คิดเป็นเงิน 258,750 บาท โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 อ้างว่าโจทก์มิใช่เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 ในขณะจำเลยที่ 3 เข้าใช้ประโยชน์จึงไม่อาจพิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ได้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 หรือไม่โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะที่จำเลยที่ 3ดำเนินการเพื่อใช้ที่ดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 กำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินแปลงใด ย่อมทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวถูกจำกัดตัดรอน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์อยู่ในขณะดำเนินการสำรวจเพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงหรือผู้ที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาภายหลังดำเนินการสำรวจแล้วก็ถูกจำกัดตัดรอนสิทธิเหมือนกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 3 ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม และโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนที่จำเลยที่ 3จะเข้าไปใช้ที่ดินพิพาท ดังนี้ โจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511มาตรา 30(1) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 3 กำหนดจำนวน 258,750 บาท เป็นธรรมแล้ว ในข้อนี้ได้ความในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3 กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทตามความเห็นของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนที่ตีราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 ไร่ละ 400,000 บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทให้ร้อยละ 50 ของราคาดังกล่าว ข้อวินิจฉัยในส่วนนี้จึงอยู่ที่ว่า ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 ที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ ตีราคาไร่ละ 400,000 บาท ต่ำเกินไปหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511มาตรา 30 มีเจตนารมณ์เหมือนกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น โดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้กว้าง ๆ ว่าให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรม ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ดังนี้ การที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 ได้นั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นด้วย ได้ความตามทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ว่าคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทโดยใช้ราคาประเมินที่ดินของกรมที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2538 เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทเพียงประการเดียวยังไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่าเป็นราคาที่แท้จริงของที่ดินพิพาท จึงยังฟังไม่ได้ว่าเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ กำหนดนั้นเป็นธรรมแล้ว ส่วนโจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์และนางประไพ เกียรติสุดา ซึ่งเป็นภริยาโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 เสนอขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ไว้แก่โจทก์ ในราคา 1,300,000 บาท กำหนดไถ่ถอน 1 ปี ตกลงไถ่ถอนเป็นเงิน 1,330,000 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งข้อนี้ไม่มีพยานจำเลยที่ 3 ปากใดเบิกความปฏิเสธ จึงฟังได้ดังที่โจทก์และนางประไพเบิกความ และเนื่องจากการขายฝากเป็นการขายภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ขายใช้สิทธิไถ่ถอนได้ ผู้ซื้อและผู้ขายจึงน่าจะกำหนดราคาไว้ต่ำกว่าราคาซื้อขายในท้องตลาด เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับโจทก์ตกลงขายฝากกันเป็นจำนวนเงินถึง 1,300,000 บาท เช่นนี้ แสดงว่าราคาซื้อขายในท้องตลาดขณะนั้นน่าจะสูงกว่าไร่ละ 650,000 บาท ที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ โดยตีราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 47810 ไร่ละ 400,000บาท เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาท จึงต่ำเกินไปเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่กำหนดให้ 400,000 บาท นับว่าใกล้เคียงกับจำนวนร้อยละ 50ของราคาซื้อขายในท้องตลาดขณะนั้นนับว่าเป็นธรรมแล้ว

พิพากษายืน

Share